ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 14 จาก 14 รายการ, 2 หน้า
เจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว

เจดีย์รายทรงปราสาทยอดตั้งเรียงรายรอบๆ เจดีย์ประธานและวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม ด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหา ส่วนด้านอื่นๆ เป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ต่อด้วยระเบียบของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ บัวถลา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง และส่วนยอดสุดที่พังทลายแล้ว

เจดีย์วัดแก้ว
สุราษฎร์ธานี
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดแก้ว

เจดีย์วัดแก้วเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ส่วนยอดที่หักหายน่าจะเป็นชั้นซ้อนต่อด้วยองค์ระฆัง คล้ายคลึงกับจันทิในศิลปะชวาภาคกลาง และเป็นทำนองเดียวกันกับพระบรมธาตุไชยาแต่ขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐและฉาบปูน องค์ประกอบสำคัญประกอบด้วยฐานขนาดใหญ่รองรับองค์เจดีย์ ตัวเจดีย์เป็นทรงปราสาทที่ส่วนยอดพังทลายลงแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม กลางด้านทั้งสี่เป็นมุข ฌเบมุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านเป็นห้องประดิษฐานรูปเคารพ เทียบได้กับแผนผังของจันทิในศิลปะชวาภาคกลางหลายแห่ง ผนังของเรือนธาตุยังประดับตกแต่งด้วยเสาอิงหรือเสาหลอกด้วย

พระบรมธาตุไชยา
สุราษฎร์ธานี
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา

พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆัง ก่ออิฐถือปูน ด้านล่างสุดเป็นฐานไพที มีแผนผังสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาหลอกหรือเสาอิงเป็นระยะ มียกเก็จทางด้านตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุอยู่ทางด้านตะวันออกนี้ ด้านบนของฐานไพทีนอกจากจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นองค์ระฆังแล้ว ยังแวดล้อมด้วยเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานบัวสี่เหลี่ยม 6 องค์เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ระฆังอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานบัวที่มีแผนผังยกเก็จล้อตามแผนผังของเรือนธาตุ โดยตัวเรือนธาตุมีแผนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมทั้งสี่ เก็จที่กลางด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นมุขยื่นยาว มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านทึบตัน เก็จที่มุมทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก ส่วนยอดถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วยชั้นซ้อน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ จากนั้นเป็นบัวคลุ่ม องค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลี อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงกลม

รัตนเจดีย์
ลำพูน
สถาปัตยกรรมรัตนเจดีย์

รัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น แผนผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานค่อนข้างชำรุด ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม มุมทั้งแปดของเรือนธาตุตกแต่งด้วยเสาอิง ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยองค์ระฆัง ยอดสุดพังทลายลงแล้ว

เจดีย์กู่กุด
ลำพูน
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่กุด

เจดีย์กู่กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผังสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยปูนปั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นค่อยๆลดขนาดลงไปจนถึงชั้นที่ห้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเรือนธาตุแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 4 ด้าน ทำให้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น 12 องค์ รวม 5 ชั้นเป็น 60 องค์ มุมทั้งสี่ของเรือนธาตชั้นที่ 1 -4 ประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นปล้องไฉนในผังสี่เหลี่ยม ยอดสุดหักพังลงแล้ว

เจดีย์วัดป่าสัก
เชียงราย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดป่าสัก

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดป่าสัก ได้แก่ ส่วนฐานซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัว ที่ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ คล้ายกับส่วนฐานของสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นช่อจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 ซุ้ม มีซุ้มสลับซุ้มจระนำรูปเทวดา ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้จึงมีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัย ถัดขึ้นมาเป็นชุดเขียงรองรับเรือนธาตุชั้นที่สอง ซึ่งมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 1 องค์ ประดับลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มจระนำซึ่งสัมพันธ์กับศิลปะพุกามอย่างที่เรียกว่าซุ้มเคล็ก ส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ และมีเจดีย์ขนาดเล็กหรือสถูปิกะประดับที่มุมทั้ง 4 องค์เจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีน