ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม
พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง
ซุ้มประตูโขงก่อด้วยอิฐฉาบปูน ช่องทางเข้ามีลักษณะเป็นวงโค้ง ตัวอาคารอยู่ในผังยกเก็จ ส่วนยอดของโขงประกอบด้วยชุดหลังคาลาดซ้อนชั้นลดหลั่นกันในผังยกเก็จ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนาคที่หน้าบัน ประดับมุมอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ในตำแหน่งกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายลายฉลุโปร่ง ตัวลายประกอบด้วยลายคดโค้ง มีลายดอกโบตั๋นประกอบด้วยก้านใบ ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเครื่องถ้วยจีนและเป็นที่นิยมในการประดับสถาปัตยกรรมในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมพระธาตุศรีสองรัก
พระธาตุศรีสองรักสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน มีองค์ประกอบทางศิลปกรรมลำดับจากส่วนล่างไปยังส่วนบน ได้แก่ ฐาน องค์บัวเหลี่ยม และยอดฐาน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุม องค์ประกอบของฐานส่วนนี้เป็นแบบแผนของล้านช้าง คือ มีลูกแก้วขนาดใหญ่ (บัวเข่าพรหม) ซึ่งพัฒนามาจากฐานสิงห์ในศิลปะอยุธยาอยู่ด้านล่างของฐานบัว และบัวคว่ำมีส่วนปลายตวัดงอนขึ้น เป็นที่มาของการเรียกฐานบัวศิลปะล้านช้างว่า ฐานบัวงอน องค์บัวเหลี่ยม มุมทั้งสี่ประดับด้วยปูนปั้นรูปกาบ ทรวดทรงเตี้ย ส่วนล่างใหญ่จากนั้นตอนบนค่อยๆสอบเล็กลง ยอด ประกอบด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมเตี้ยๆ และยอดกรวยในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของปล้องไฉนและปลีของเจดีย์ทรงกลม
สถาปัตยกรรมพระธาตุดอยสุเทพ
พระธาตุดอยสุเทพเป็นเจดีย์ก้ออิฐถือปูนหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญจากด้านล่างสู่ด้านบน ได้แก่ ฐานบัวในผังเพิ่มมุมที่ออกแบบจนแลดูคล้ายกับฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวถลาในผังสิบสองเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันรับองค์ระฆัง องค์ระฆังอยู่ในผงสิบสองเหลี่ยมเช่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมไจก์ติโย
ก้อนหินที่แขวนอยู่บนหน้าผา เกือบจะร่วงหล่นแต่ไม่ร่วงหล่น ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ต่อมาถูกดัดแปลงให้กลายเป็นพุทธสถานได้ ชาวกระเหรี่ยงพื้นถิ่นผู้นับถือผีมาก่อนคงจะสังเกตเห็นความมหัศจรรย์ดังกล่าวและสถาปนาก้อนหินดังกล่าวให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่อมาได้ถูกดัดแปลงเป็นพุทธสถานโดยชาวมอญและมีการแต่งตำนานแบบพุทธเพื่อโยงความศักดิ์สิทธิ์เข้ากับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติดังกล่าว
สถาปัตยกรรมธาตุ วัดสีเมือง
ธาตุวัดสีเมือง เป็นธาตุที่สร้างด้วยศิลาแลงซึ่งแตกต่างไปจากธาตุที่สร้างด้วยอิฐในระยะร่วมสมัย เท่าที่เหลืออยู่ปรากฏเป็นฐานบัวที่มีบัวคว่ำและท้องไม้ขนาดใหญ่ที่คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ ธาตุองค์นี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสถาปัตยกรรมขอม อย่างไรก็ตาม ขนาดของศิลาแลงที่เล็กกว่าขอมมากและการใช้ลูกแก้วอกไก่คาดกลางท้องไม้ย่อมแสดงว่าธาตุองค์นี้ไม่ใช่ศิลปะขอมอย่างแน่นอน