ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 65 ถึง 72 จาก 210 รายการ, 27 หน้า
ปราสาทพนมรุ้ง
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าสุดหรือด้านตะวันออกไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. โคปุระแผนผังกากบาท เดิมทีคงเป็นเครื่องไม้จึงสูญสลายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงฐานศิลาแลง 2. พลับพลาหรือศาลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโคปุระ 3. ถัดจากโคปุระเป็นทางดำเนิน สองข้างเรียงรายด้วยเสานางเรียง ปลายสุดของทางดำเนินเป็นชาลานาคราชแผนผังกากบาท 4. ถัดจากชาลานาคราชเป็นชุดขั้นบันได 5 ชุด มุ่งสู่ยอดพนมรุ้งอันเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆ 5. พื้นที่ด้านตะวันออกนอกแนวระเบียงคดมีฐานของอาคารหลังคาคลุม เข้าใจว่าเป็นอาคารโถง ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักจึงสูญสลายไปตามกาลเวลา พบเศษกระเบื้องตกอยู่จำนวนมากจึงสันนิษฐานว่าอาคารนี้มุงด้วยกระเบื้อง รูปแบบของอาคารเป็นลักษณะระเบียงทางเดินที่ตัดไขว้กัน ทำให้เกิดหลุม 4 หลุม ทางเดินนี้เชื่อมต่อเข้ากับระเบียงโถงที่เคยล้อมรอบระเบียงหินทราย ปัจจุบันระเบียงโถงเหลือแต่ฐานเช่นกัน 6. ระเบียงคดหินทรายและศิลาแลงล้อมรอบปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ มีโคปุระหรือซุ้มประตูที่กลางด้านทั้งสี่ 7. ปราสาทประธานหินทรายตั้งอยู่กลางพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รอบๆปราสาทประธานมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ คือ ทางด้านเหนือมีปราสาทอิฐ 2 หลัง ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้มีปรางค์น้อย ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือบรรณาลัย

ปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ใต้ และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านตะวันออกเป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปประดับด้วยบราลีหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานศิวลึงค์ มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุขด้านเหนือ ภายในมณฑปประดิษฐานโคนนทิ นอกจากนี้ยังมีแท่นสี่เหลี่ยมสลักภาพเทพประจำทิศประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป มุข และฐานโดยรอบเรือนธาตุด้วย

เจดีย์วัดป่าสัก
เชียงราย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดป่าสัก

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดป่าสัก ได้แก่ ส่วนฐานซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัว ที่ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ คล้ายกับส่วนฐานของสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นช่อจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 ซุ้ม มีซุ้มสลับซุ้มจระนำรูปเทวดา ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้จึงมีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัย ถัดขึ้นมาเป็นชุดเขียงรองรับเรือนธาตุชั้นที่สอง ซึ่งมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 1 องค์ ประดับลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มจระนำซึ่งสัมพันธ์กับศิลปะพุกามอย่างที่เรียกว่าซุ้มเคล็ก ส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ และมีเจดีย์ขนาดเล็กหรือสถูปิกะประดับที่มุมทั้ง 4 องค์เจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีน

ปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่ใต้ หลังที่ 1
กัมปง ธม
สถาปัตยกรรมปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่ใต้ หลังที่ 1

ปราสาทสมัยก่อนเมืองพระนคร มักสร้างด้วยอิฐและแตกต่างด้วยการสลักอิฐเสมอ โดยไม่มีการเพิ่มมุม แต่มักประดับด้วยเสาติดผนังที่มุมและที่ด้าน ปราสาทสมโบร์ไพรกุกหลังนี้ มีการตกแต่งด้านข้างด้วยเสาติดผนังจำนวน 6 ต้น แบ่งพื้นที่เรือนธาตุออกเป็น 5 เก็จ โดยเก็จประธานประดับซุ้มประตูทรงปราสาท ส่วนเก็จข้างประดับ “วิมานลอย” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยก่อนเมืองพระนคร ยอด้ายบนมีลักษณะเป็นเรือนธาตุซ้อนชั้นตามอย่างวิมาน อินเดียใต้ โดยแต่ละชั้นมีการประดับปราสาทจำลองซึ่งมีบันไดเป็นระยะๆ ปราสาทจำลองเช่นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยก่อนเมืองพระนครเช่นกัน

ปราสาทแปดเหลี่ยม : ปราสาทสมโบร์ไพรกุก
กัมปง ธม
สถาปัตยกรรมปราสาทแปดเหลี่ยม : ปราสาทสมโบร์ไพรกุก

ปราสาทสมโบร์ไพรกุก มีปราสาทบางหลังที่มีแผนผังแปดเหลี่ยม ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่ปรากฏเฉพาะสมัยก่อนเมืองพระนครเท่านั้น ปราสาทแปดเหลี่ยมเหล่านี้ ไม่มีการเพิ่มมุม แต่ใช้เสาติดผนังขนาบแต่ละมุม และกึ่งกลางปรากฏ “วิมานลอย” ซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของศิลปะก่อนเมืองพระนคร ส่วนยอดของปราสาทแปดเหล่ยมเหล่านี้ มักประดับไปด้วยชุดหลังคาลาดที่ประดับไปด้วยกูฑุ อันเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียเหนือ แตกต่างอย่างยิ่งไปจากยอดแบบวิมานปราสาทในผังสี่เหลี่ยมซึ่งได้รับความนิยมในระยะร่วมสมัย

ปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่กลาง หลังที่ 1
กัมปง ธม
สถาปัตยกรรมปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่กลาง หลังที่ 1

ปราสาทสมัยก่อนเมืองพระนคร มักสร้างด้วยอิฐและแตกต่างด้วยการสลักอิฐเสมอ โดยไม่มีการเพิ่มมุม แต่มักประดับด้วยเสาติดผนังที่มุมและที่ด้าน อนึ่ง ปราสาทหลังนี้มีลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกับปราสาทสมโบร์ไพรกุกหลังอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรูปแบบทั้งหลังได้เปลี่ยนไปกลายเป็นแบบไพรกเมงต่อกำพงพระแล้ว ด้วยเหตุนี้ปราสาทหลังนี้จึงควรมีอายุหลังกว่าปราสาทสมโบร์ไพรกุกในหมู่ใต้และหมู่เหนือ ด้านหน้าปราสาทมีการสลักบันไดขนาดใหญ่จากหินก้อนเดียว และมีการสลักรูปสิงห์ทวารบาล ซึ่งทำให้ปราสาทหลังนี้รู้จักกันในอีกรนามหนึ่งว่า “ปราสาทสิงห์”

ปราสาทดำไรกราบ
พนมกุเลน
สถาปัตยกรรมปราสาทดำไรกราบ

ปราสาทจามสมัยหัวล่าย ประกอบด้วยเสาติดผนังจำนวน 4 ต้นเสมอ กึ่งกลางเสาประดับด้วย “แถบลาย” ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับปราสาทหัวล่ายในเวียดนาม นอกจากนี้ที่บัวหัวเสายังปรากฏเค้าโครงของครุฑแบกซึ่งคล้ายคลึงกับส่วนเดียวกันของปราสาทหัวล่ายด้วย อย่างไรก็ตาม ปราสาทแห่งนี้กลับสลักไม่เสร็จ จึงยังไม่ปรากฏลวดลายใดๆบรรจุอยู่ในแถบลายกึ่งกลางเสา

ปราสาทมิเซิน กลุ่ม B
ดุยเซ็น
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน กลุ่ม B

ปราสาทมิเซิน กลุ่ม B เป็นตัวอย่างของการจัดวางกลุ่มปราสาทในศิลปะจาม ซึ่งมักวางตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ ภายในกลุ่มโบราณสถานประกอบไปด้วยปราสาทประธาน ปราสาทบริวาร บรรณาลัย โคปุระ กำแพงล้อมรอบและมณฑปซึ่งตั้งอยู่ภายนอกกำแพง