ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูป
ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายนี้เหลือเพียงพระบาทและฐานบัวเท่านั้น หินทรายส่วนพระบาทเป็นผังสี่เหลี่ยม สลักเชื่อมติดกับฐานหน้ากระดานและมีเดือยยาว ส่วนหินทรายส่วนฐานบัวเป็นผังกลม มีจารึกอยู่ที่ขอบล่าง กึ่งกลางฐานบัวสลักเป็นช่องสี่เหลี่ยมเพื่อรับพระบาท
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป
เศียรพระพุทธรูปองค์นี้มีเค้าพระพักตร์แป้น พระนลาฏกว้าง พระขนงนูนเป็นสันและต่อเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำและโปน พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะเป็นต่อมนูน มีช่องเจาะอยู่ที่กลางพระอุษณีษะ สันนิษฐานว่าเดิมทีเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีหรือหินมีค่าประกอบไว้ นอกจากนี้อาจเคยเป็นช่องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุด้วย
ประติมากรรมธรรมจักร
ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรแลดูโปร่งนอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบกงมีลวดลายกนกคล้ายเปลวไฟ ส่วนล่างมีแผงสามเหลี่ยมรับน้ำหนักต่อเนื่องไปยังแท่นฐานสี่เหลี่ยมที่รับองค์ธรรมจักรไว้ตามตำแหน่งต่างๆ ของธรรมจักรองค์นี้มีจารึกข้อพระธรรมภาษาบาลี อักษรปัลลวะ เป็นข้อความจากธรรมจักรกัปปวัตรสูตร
ประติมากรรมธรรมจักร
ธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง มีรูเจาะทะลุที่เหนือดุม ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่ไม่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรองค์นี้แลดูทึบ นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายก้านขด เบื้องล่างสลักรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิและถือดอกบัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระสุริยเทพ
ประติมากรรมธรรมจักร
ธรรมจักรชุดนี้พบว่ามีส่วนประกอบครบทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ เสาแปดเหลี่ยม ฐานสี่เหลี่ยม และธรรมจักร โดยฐานสี่เหลี่ยมทำหน้าที่ยึดตรึงให้ธรรมจักรวางอยู่บนยอดเสาได้โดยไม่ร่วงหล่นธรรมจักรวงกลมประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ดุมอยู่ตรงกลาง ซี่หรือกำ ระหว่างซี่แต่ละซี่เจาะทะลุทำให้ธรรมจักรแลดูโปร่ง นอกสุดเป็นกงซึ่งตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอบกงมีลวดลายกนกคล้ายเปลวไฟ เบื้องล่างมีแผงสามเหลี่ยมรับน้ำหนัก ทั้งยังมีกลีบบัวรองรับ และมีเดือยยาวเสียบลงไปในแท่นสี่เหลี่ยมฐานสี่เหลี่ยมประดับตกแต่งด้วยลายดอกไม้กลมสลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มุมทั้งสี่ออกแบบลวดลายเลียนแบบมกร มีช่องเจาะทะลุตรงกลางเพื่อรับเดือยของธรรมจักรและของเสา ทำหน้าที่ยึดตรึงเสากับธรรมจักรให้ติดกัน เสาธรรมจักรมีลำตัวอยู่ในผังแปดเหลี่ยม ด้านล่างสุดสลักรูปหงส์และดอกบัวรองรับลำตัวเสา ยอดสาสลักลายพวงมาลัยและอุบะดอกไม้ ถัดขึ้นไปเป็นเดือยที่สอดเข้าไปในฐานสี่เหลี่ยม
ประติมากรรมพระวิษณุ
ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมที่เทียบได้กับเทวรูปยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย และเทวรูปศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร ทำให้กำหนดอายุพระวิษณุองค์นี้ได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13
ประติมากรรมพระสุริยเทพ
พระสุริยเทพองค์นี้ชำรุดเสียหายหลายส่วน ยืนตรง สวมกิรีฏมกุฏแปดเหลี่ยม หรือหมวกทรงกระบอกแปดเหลี่ยม มีลวดลายกนกประดับด้านหน้าของมกุฏ ประภามณฑลขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลังพระเศียร ลักษณะทั้งสองนี้ทำให้ทราบว่าเป็นพระสุริยเทพหรือพระอาทิตยเทพพระพักตร์แบน สวมกุณฑลแบบห่วงกลมซึ่งพบได้ทั่วไปในประติมากรรมศิลปะทวารวดี สวมกรองศอที่มีลายกนกแบบทวารวดี พระองค์สวมผ้าแบบ Tonic เป็นชิ้นเดียวกันคลุมตั้งแต่พระอังสาจนจรดพระชานุ เป็นเครื่องทรงเฉพาะของพระสุริยเทพเข่นกัน พระกรทั้งสองข้างและพระบาททั้งสองข้างชำรุดสูญหาย จึงไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุยืนเอียงพระโสณีอยู่บนฐานหน้ากระดาน สวมกิรีฏมกุฏหรือมกุฏทรงกระบอก บางท่านเรียกว่าหมวกแขก เป็นลักษณะหนึ่งที่พบได้ในรูปพระวิษณุรุ่นเก่า มีต้นแบบอยู่ในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระวรกายส่วนบนเปล่าเปลือย พระกรทั้งสี่ชำรุดเสียหายจนไม่ทราบว่าถือสิ่งใดไว้ในพระหัตถ์ พระวรกายส่วนล่างนุ่งสมพตสั้นที่บางแนบเนื้อและไม่ประดับตกแต่งใดๆ จนแลดูกลมกลืนกับพระวรกาย ผ้านุ่งเช่นนี้สัมพันธ์กันกับประติมากรรมสำริดที่พบจากภาคอีสานตอนล่าง แถบจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์พระองค์ยืนโดยให้น้ำหนักลงที่พระพระบาทขวา ในขณะที่พระบาทซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณีเอียงไปทางขวา เรียกว่ายืนเอียงสะโพก มีต้นแบบมาจากการยืนตริภังค์ในศิลปะอินเดีย ซึ่งหมายถึงการยินเอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร พระวิษณุองค์นี้เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง ไม่มีแผ่นหินบริเวณข้อพระบาทเหมือนพระพุทธรูปทวารวดี และไม่มีชายผ้าหรือตะบองช่วยรับน้ำหนักเช่นพระวิษณุอื่นๆ การทำประติมากรรมลอยตัวเช่นนี้นับว่าเป็นความพิเศษของประติมากรรมจากเมืองศรีเทพ