ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
บุษบกทุกองค์ทำด้วยโลหะปิดทองประดับกระจก มีลักษณะเป็นบุษบกโถง ประกอบด้วยเสาย่อมุมทั้ง 4 มุม รับเครื่องหลังคาที่เป็นยอดแหลม ซุ้มสาหร่ายทุกด้านออกลายเทพนม ส่วนฐานบุษบกประดับชั้นเทพนมบุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1-3 ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปพระมหามงกุฎไม่มีกรรเจียก พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระวิมาน บุษบกด้านทิศใต้องค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระมหามงกุฎมีกรรเจียกประดับ และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว บุษบกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประดิษฐานประบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปวชิราวุธ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ เป็นรูปดุสิตเทพบุตรประทับนั่งห้อยพระบาทขวาบนบัลลังก์ดอกบัว พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีอุณาโลมล้อมด้วยจักรและรัศมีอยู่เหนือพระที่นั่ง ด้านบนมีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบรมราชสัญลักษณ์ทั้งหมดประดิษฐานภายในบุษบกเหนือฐานหินอ่อน รอบฐานมีประติมากรรมรูปช้างทำด้วยสำริด หมายถึงพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญในรัชกาลนั้นๆ
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
รูปแบบพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน เครื่องหลังคาแบบไทยประเพณี ประดับด้วยเครื่องลำยอง ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง หางหงส์ หน้าบันประดับด้วยงานไม้แกะสลัก ปิดทอง ประดับกระจกสี โดยรอบอาคารใช้เสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ทึบตัน ไม่ประดับคันทวยและบัวหัวเสา รองรับน้ำหนักซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 พระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสิงห์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้า 8 แห่ง และเกยสำหรับโปรยทาน 8 แห่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในพระอุโบสถแห่งอื่น รูปแบบซุ้มประตูเป็นแบบตะวันตกผสมผสานกับศิลปะไทย
จิตรกรรมพระพุทธวชิรญาณ
พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ประทับยืนปางห้ามสมุทร รูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ทรงเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ พระมหามงกุฎ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ธำมรงค์ โดยเฉพาะส่วนของชายไหวชายแครงที่มีลักษณะอ่อนช้อยที่ด้านหน้าสบงเหนือพระเศียรประดับฉัตร 7 ชั้นพระพุทธรูปประทับยืนบนแท่นฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ ที่มีรูปเทพพนมและครุฑแบกประดับที่ชั้นฐานก็เป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ที่ฐานมีจารึกข้อความกล่าวถึงพระราชดำริและประวัติการสร้างพระพุทธวชิรญาณ
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5
จิตรกรรมพระราชประวัติรัชกาลที่ 5 เขียนภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในราชสำนักตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ถึงกระทั่งเมื่อย้ายพระที่นั่งทรงผนวชจากในพระบรมมหาราชวังมาสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ละห้องภาพปรากฏภาพพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น ภาพการเสด็จออกรับราชทูต โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญที่มีอยู่จริง เช่น ภาพพระที่นั่งและอาคารสำคัญต่างๆในพระบรมมหาราชวัง ภาพพระปฐมเจดีย์ พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น เทคนิคการเขียนภาพใช้หลักทัศนียวิทยาอย่างตะวันตกที่สมจริงและเคร่งครัดมากขึ้นกว่าจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยัง ภาพจิตรกรรมยังแสดงให้เห็นสภาพสังคมในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านเรือน การแต่งกายของผู้คน การใช้เรือเป็นพาหนะสัญจร การใช้ธงชาติ มหรสพและการละเล่นต่างๆ
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน
จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารฯ เป็นภาพภิกษุพิจารณาซากศพประเภทต่างๆจำนวน 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทเหมาะสมกับผู้มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แต่ละห้องภาพมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันคือมีภาพพระสงฆ์ 1 รูป พิจารณาซากศพ 1 ประเภท โดยอยู่ในตอนล่างของภาพซึ่งแสดงถึงระยะที่อยู่ใกล้ผู้ชม เบื้องหลังในตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงระยะที่อยู่ไกลออกไปเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยทิวเขา ป่าไม้ มีเส้นขอบฟ้าเพื่อกำหนดระยะของวัตถุอื่นๆ ในภาพที่อยู่ไกลออกไปและแสดงบรรยากาศของเวลาที่น่าจะเป็นยามเย็นหรือใกล้ค่ำ ภาพอสุภกรรมฐานทั้ง 10 ประเภท ได้แก่1.อุทธุมาตกอสุภ (ศพขึ้นอืด)2. วินีลกอสุภ (ศพสีคล้ำ) 3.วิปุพพกอสุภ (ศพที่มีน้ำเหลือง) 4.วิจฉิททกอสุภ (ศพที่ถูกตัดเป็นท่อน) 5.วิกขายิตกอสุภ (ศพที่มีสัตว์ทั้งหลายกัดกินโดยอาการต่างๆ)6.วิกขิตตกอสุภ (ศพกระจุยกระจาย) 7.หตวิกขิตตกอสุภ (ศพถูกฟัน)8.โลหิตกอสุภ (ศพที่มีเลือดไหล) 9.ปุฬุวกอสุภ (ศพมีหนอน) 10.อัฏฐิกอสุภ (ศพที่เป็นร่างกระดูก)
ประติมากรรมพระนิรันตราย
พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงพระราชอุทิศของรัชกาลที่ 4 และพระราชโอรส
พระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสังขรณ์ตามเค้าโครงของพระพุทธรูปเดิมที่อาจเป็นฝีมือช่างในท้องถิ่น พระวรกายอวบอ้วนขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ แนวพระขนงโก่งต่อเนื่องกับพระนาสิกแหลม พระหนุและพระศอสั้น มีพระรัศมีเปลวค่อนข้างสั้น มีอุษณีษะ เม็ดพระศกเล็กคล้ายหนามขนุน พระกรรณยาวใหญ่ พระพุทธรูปแสดงปางมารวิชัยปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแถบใหญ่ยาวจรดพระนาภีปลายตัดตรง ประทับนั่งบนแท่นฐานปูน เบื้องหลังมีเสาที่ตกแต่งบัวหัวเสาด้วยลายใบผักกาดแบบตะวันตก รองรับซุ้มปูนปั้นปิดทองทำเป็นรูปลำตัวนาคหยักโค้ง ปลายซุ้มเป็นรูปนาคหันหัวเข้า ยอดกลางซุ้มเป็นลวดลายเทพนม มีช่อลายกระหนกประดับ ที่ผนังถ้ำด้านซ้ายของพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่มีจารึกประกาศพระบรมราชโองการ (สะกดตามรูปและอักขรวิธีเดิม) ว่า “พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ เปนของท่านผู้มีศรัทธาโบราณสร้างไว้มีอยู่ในที่นี้นานแล้ว กับด้วยพระพุทธปฏิมารูปอื่นอีกสองพระองค์เคียงกัน ซึ่งตั้งต่างเบื้องขวาพระองค์นี้นั้น ครั้งเมื่อ ณ วัน ๗ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๒๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ที่ ๔ ในพระบรมราชวงษ์อันนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประภาศเมืองเพชรบุรี ได้เสด็จประภาศถึงถ้ำนี้ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปสามพระองค์นี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงกั้นถ้ำไว้ชอบกลอยู่ จึงได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่ง ให้พระยาหัตถการบันชา จางวางช่างสิบหมู่ จ้างช่างปั้นปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูปพระองค์นี้ขึ้นแล้ว ให้ลงรักถวาย ทรงปิดทองเป็นส่วนหลวง แต่พระพุทธรูปสองพระองค์ตั้งอยู่เคียงกัน ฝ่ายขวาพระพุทธรูปพระองค์นี้นั้นได้พระราชทานให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่สองพระองค์ คือพระองค์เจ้านภวงษเปนกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ ได้ว่ากรมล้อมพระราชวังพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าสุประดิฐเป็นกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ได้ว่ากรมพระคลังมหาสมบัติพระองค์หนึ่ง ปฏิสังขรณ์พระองค์ละพระองค์ เพื่อจะให้เปนพระเกียรติยศสืบไปภายน่า การปฏิสังขรณ์พระพุทธปฏิมารูป ๓ พระองค์นี้เปนอันสัมฤทธิบริบูรณแล้ว ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแลอวยไชยอวยพรไว้แก่เทพยดา มนุศทั้งปวง บันดาที่ได้มายังถ้ำนี้ แลได้เห็นได้นมัสการพระปฏิมารูปทั้ง ๓ พระองค์นี้จงทุกคน แลทรงพระอธิฐานด้วยการพระราชกุศลนี้ว่า ในประจุบันภพนี้ขอให้พระองค์และพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ มีพระชนมายุยืนยาวถาวรปราศจากโรคาทิอุปัทวันตรายทั้งปวง เปนศุขสวัศดีไปสิ้นกาลนาน เพื่อจะได้สมัยกาลโอกาสเปนที่ทรงบำเพญพระราชกุศลต่างๆ เปนอันมาก ในเพลาเมื่อได้มาประสบพบบุญอรุโณภาศ คือ พระพุทธสาศนาแลพระราชศรัทธาแลศิริราชสมบัติ แลขอให้พระราชกุศลนี้จงเปนปัจจัยให้ได้เสดจถึงที่สิ้นสุด ดับแห่งสังสารวัฏทุกขทั้งปวง คือ พระอมฤตยนฤพานนั้นเทอญ มีพระบรมราชโองการให้จารึกคำนี้ไว้ วัน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกโทศก เปนปีที่ ๑๐ ในรัชกาลประจุบันนี้”
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว