ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทจำลองทรงพุ่ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยหลังของจาม พัฒนามาจากปราสาทจำลองทรงถะจีนซึ่งนิยมมาก่อนในศิลปะบิญดิ่นตอนปลาย เช่นปราสาทจำลองของปราสาทแก๋งเตียนในจังหวัดบิญดิ่น ปราสาทจำลองแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุว่า ปราสาทโพกลวงการายควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา
สถาปัตยกรรมบรรณาลัย (?) ของปราสาทโพกลวงการาย
บรรณาลัยของปราสาทโพกลางการาย เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาเป็นทรงประทุน หรือทรงศาลา ในศัพท์สถาปัตยกรรมอินเดีย อนึ่ง บรรณาลัยปรากฏมาแล้วตั้งแต่ปราสาทมิเซิน โดยอยู่ในผังและมีหลังคาทรงนี้เสมอ รวมถึงตั้งอยู่ทางด้านข้างของปราสาทประธานเสมอๆ เนื่องจากบรรณาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มปราสาทซึ่งกำหนดอายุอยู่ในสมัยหลัง ด้วยเหตุนี้ บรรณาลัยดังกล่าวจึงควรมีอายุอยู่ในระยะเดียวกัน ส่วนปราสาทจำลองทรงถะจีนที่มุมนั้นอาจแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยบิญดิ่นตอนปลาย
สถาปัตยกรรมปราสาทโพโรเม
ปราสาทหลังนี้ เป็นปราสาทในระยะสุดท้ายของศิลปะจาม รายละเอียดต่างๆได้ถูกลดทอนจนหมดสิ้น ดังปรากฏเสาติดผนังเพียงสองต้น และมีซุ้มจระนำรูปใบหอก ด้านบนประดับปราสาทจำลองทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทโพกลวงการาย
สถาปัตยกรรมจันทิปุนตเทพ
จันทิมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก กล่าวคือ เป็นจันทิในผังครรภคฤหะ มีมุขสั้นๆยื่นออกมาทางด้านหน้า เรือนธาตุประดับด้วยเสาติดผนังสี่ต้นแบ่งผนังออกเป็นสามส่วน (เก็จประธานและเก็จมุม) ชั้นหลังคามีเรือนธาตุจำลอง (ตละ) ซ้อนชั้นขึ้นไป ที่มุมประดับด้วยอาคารจำลอง (หาระ) การที่เส้นรอนอกของยอดมีลักษณะเป็นขั้นบันไดนั้นคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก ลักษณะพิเศษเพิ่มเติมของจันทิหลังนี้ก็คือการปรากฏลวดลายตกแต่งซุ้มจระนำที่เก็จประธานเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยม และการตกแต่งเก็จมุมด้วยเสาและซุ้มซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏมาก่อนกับจันทิอรชุน
สถาปัตยกรรมจันทิปรัมบะนัน
เทวาลัยประกอบด้วยจันทิขนาดเล็กจำนวน 224 หลัง โดยล้อมรอบกลุ่มเทวาลัยประธาน ซึ่งอาจเทียบได้กับจันทิเซวูว่าซึ่งเป็นจันทิในพุทธศาสนาที่มีแผนผังแบบมณฑล เทวาลัยประธานนั้น ประกอบด้วยเทวาลัยจำนวน 8 โดย เทวาลัยประธานจำนวนสามหลังสร้างอุทิศให้กับตรีมูรติ อันได้แก่ เทวาลัยหลังกลางอุทิศให้กับพระศิวะ เทวาลัยหลังทิศเหนืออุทิศให้กับพระวิษณุและเทวาลัยหลังทิศใต้อุทิศให้กับพระพรหมส่วนเทวาลัยด้านหน้าอีกสามหลังนั้นเป็นเทวาลัยที่สำหรับพาหนะของเทพเจ้าทั้งสาม อันได้แก่โคนนทิ ครุฑและหงส์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีเทวาลัยอีกสองหลังเล็กขนาบทั้งสองด้าน เทวาลัยหลังเล็กนี้คงสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระสูรยะและพระจันทร์
สถาปัตยกรรมเทวาลัยพระศิวะ: จันทิปรัมบะนัน
เทวาลัยพระศิวะ ถือว่าเป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีแผนผังกากบาทและมีห้องเล็กๆจำนวนห้าห้อง ซึ่งแสดงให้เห็นแผนผังที่สืบมาจากเทวาลัยในพุทธศาสนามหายานที่สร้างขึ้นในระยะร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม เทวาลัยแห่งนี้อุทิศให้กับเทพเจ้าในศาสนาอินดูทั้งหมด อันได้แก่ห้องกลางนั้นอุทิศให้กับพระศิวะ ด้านทิศใต้อุทิศให้กับพระอคัสตยะ ด้านตะวันตกอุทิศให้กับพระคเณศ และด้านทิศเหนืออุทิศให้กับนางมหิษาสูรมรรทนี ตัวอาคารประกอบด้วยฐานประดับรูปเทพประจำทิศ เรือนธาตุแบ่งออกเป็นสองชั้นซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการที่แตกต่างไปจากจันทิหลังอื่นๆในระยะก่อนหน้า เรือนธาตุในแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำยอดปราสาทที่เหมือนกันทั้งหมด สำหรับยอดปราสาทนั้น เนื่องจากเทวาลัยดังกล่าวมีแผนผังกากบาทตั้งแต่ฐานยันยอดวิมาน ซึ่งทำให้เรือนธาตุจำลองทุกชั้นมีแผนผังกากบาทเช่นเดียวกับเรือนธาตุ แผนผังดังกล่าวทำให้ยอดปราสาทของจันทิหลังนี้มีความซับซ้อนกว่าจันทิในศิลปะชวาระยะก่อนหน้าอาคารจำลองที่ประดับชั้นวิมานยังคงมีลักษณะเป็น “อาคารจำลองยอดสถูปิกะ” ดังที่ปรากฏมาก่อนแล้วในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย อย่างไรก็ตาม สถูปิกะยอดอาคารจำลองเหล่านี้กลับมีริ้วกลีบมะเฟืองอันคล้ายคลึงกับอมลกะในศิลปะอินเดียเหนือเป็นอย่างยิ่ง
สถาปัตยกรรมจันทิกิดาล
จันทิแห่งนี้ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ต่อมาจะกลายเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ เป็นจันทิขนาดเล็กที่มีห้องครรภคฤหะเพียงห้องเดียว ตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้นที่ เหนือประตูกลางปรากฏหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้ายตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออก คือ เป็นหน้ากาลที่มีปากล่าง มีเขี้ยวยื่นออกมา มีเขาและมีมือที่ชูนิ้วขึ้นในท่าขู่ เรือนธาตุคาด “เส้นรัดอก” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของจันทิมีลักษณะที่ต่อมาจะปรากฏเสมอๆในศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ ปรากฏ “ชั้นหน้ากระดาน” สลับอาคารจำลองขนาดเล็กเรียงกันจำนวน 5 หลัง
สถาปัตยกรรมจันทิจาโก
ศาสนสถานมีฐานรองรับ 3 ชั้นโดยสลักเรื่องการวิวาทกันระหว่างราชวงศ์ปาณฑพและเการพในมหาภารตะ โดยเริ่มตั้งแต่พวกปาณฑพเล่นสกากับพวกเการพ การเปลื้องผ้านางเทราปตี การถูกขับไล่ออกจากเมืองจนถึงพระอรชุนไปบำเพ็ญตบะที่เขาอินทรกิละ และเรื่องการรับอาวุธปาศุปัตจากพระศิวะที่แปลงตนเองมาเป็นนายพรานชื่อกิราตะ หลังคาของปราสาทด้านบนได้หักพังลงมาหมดแล้ว แต่เป็นไปได้ที่หลังคาของปราสาทอาจเป็นเรื่องไม้มุงกระเบื้องหรือมุงฟาง โดยเป็นหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบ “เมรุ” ก็ได้