ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติ
เรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร มีจารึกปรากฏที่โคนเสาคู่หน้าใกล้พระประธานทั้ง 2 ต้น ความว่า “อนึ่งได้มีพระพุทธสุภาษิตแสดงฉฬาภิชาติไว้ดังนี้1. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ คือต่ำต้อยและขัดสน ทั้งเกิดนิยมธรรมดำ คืออกุศลจริตต่างๆ2. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมธรรมขาว คือกุศลจริตต่างๆ3. กัณหาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาดำ แต่เกิดนิยมนิพพาน อันไม่ดำไม่ขาว4. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว คือสูงและมั่งมี แต่เกิดนิยมธรรมดำ5. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว ทั้งเกิดนิยมธรรมขาว6. สุกกาภิชาติยะ บุคคลผู้เกิดมาขาว เกิดนิยมนิพพาน ที่ไม่ดำไม่ขาว”ภาพจิตรกรรมเรื่องฉฬาภิชาติที่พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่โคนเสา โดยเรียงลำดับจากเสาคู่แรกใกล้พระประธาน ได้แก่เสาคู่ที่ 1 ภาพพระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาต พื้นเสาสีขาวอ่อนเสาคู่ที่ 2 ภาพพระภิกษุและนักบวช พื้นเสาสีขาว เสาคู่ที่ 3 ภาพอุบาสกอุบาสิกา นุ่งห่มด้วยชุดขาว พื้นเสาสีเหลือง เสาคู่ที่ 4 ภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดี พื้นเสาสีแดง เสาคู่ที่ 5 ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษ พื้นเสาสีเขียว เสาคู่ที่ 6 ภาพคนล่าสัตว์หรือนายพราน พื้นเสาสีคราม เมื่อศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎกร่วมกับการจัดวางตำแหน่งของภาพบุคคลแต่ละกลุ่ม ทำให้สันนิษฐานได้ว่าภาพเหล่านี้น่าจะจัดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ1. กลุ่มที่นิยมนิพพาน ไม่ดำไม่ขาว ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้า ภิกษุ และนักบวชที่เสาคู่แรกและคู่ที่ 2 ใกล้กับพระประธาน ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งผู้ที่มีกำเนิดสูงและต่ำ แต่มีความตั้งใจที่จะออกบวชเพื่อบรรลุนิพพาน2. กลุ่มที่นิยมธรรมขาว ได้แก่ ภาพอุบาสกอุบาสิกาที่นุ่งห่มด้วยชุดขาวที่เสาคู่ที่ 2 กับภาพกษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีที่เสาคู่ที่ 3 ซึ่งมีความสุจริตกาย วาจา ใจ ตามฐานันดรภาพของตน โดยภาพอุบาสกนุ่งห่มขาวก็อาจหมายถึงบุคคลที่มีกำเนิดไม่ว่าจะสูงหรือต่ำต้อยแต่เลือกที่จะประพฤติดี ส่วนภาพกษัตริย์ พราหมณ์และคหบดี หมายถึง บุคคลที่มีชาติกำเนิดสูงซึ่งสอดคล้องกับข้อความในพระไตรปิฎกด้วย 3. กลุ่มที่นิยมธรรมดำ ได้แก่ ภาพตุลาการ เจ้าหน้าที่เรือนจำและนักโทษที่เสาคู่ที่4 กับภาพคนล่าสัตว์ที่เสาคู่ที่ 5ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ทำบาป ทั้งบุคคลที่เกิดในสกุลต่ำ มีความอดอยากจึงจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการฆ่าสัตว์ หรือบุคคลที่แม้เกิดในตระกูลสูงแต่เมื่อประพฤติผิดก็ย่อมถูกลงโทษ รวมทั้งบุคคลบางกลุ่มที่จำเป็นต้องทำบาปด้วยหน้าที่เช่นการเป็นผู้ตัดสินความผิดของนักโทษ หรือมีอาชีพเป็นเพชฌฆาต
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม
จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ วัดคงคาราม จ.ราชบุรี มีการจัดวางองค์ประกอบภาพดังเช่นที่นิยมในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ในกรุงเทพ กล่าวคือ ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน ด้านตรงข้ามพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ ผนังระหว่างช่องหน้าต่างทั้ง 2 ข้างเขียนเรื่องทศชาดก ผนังเหนือช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ บานประตูหน้าต่างเขียนภาพทวารบาลเหยียบมาร ตัวละครสำคัญ เช่น พระโพธิสัตว์ พระอินทร์ และเทวดาต่างๆ แสดงออกด้วยท่าทางอย่างนาฏลักษณ์ ส่วนภาพบุคคลประกอบอื่นๆ อย่าง ภาพทหาร ชาวบ้าน แสดงกิริยาอาการอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพปราสาทราชวังเป็นแบบไทยประเพณี โดยมีภาพป้อมปราการและกำแพงพระราชวังที่เสมือนจริง มีการใช้เส้นสินเทาแบ่งภาพในบางตอน แต่ส่วนใหญ่ใช้ภาพแนวพุ่มไม้ โขดหิน แนวกำแพงวังเพื่อแบ่งตอนต่างๆ ของภาพ
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
ภาพเขียนสีฝุ่นแสดงภาพมณฑปพระพุทธบาทที่อยู่ด้านบนกึ่งกลางภาพ แวดล้อมด้วยอาคารต่างๆภายในวัด เบื้องล่างลงมาเป็นภาพการเดินทางของผู้คนที่มุ่งหน้าไปยังพระพุทธบาทด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินทางด้วยเรือ สัตว์เทียมเกวียน และเดินเท้า มีทั้งภิกษุและฆราวาส ผ่านเส้นทางที่เป็นป่าเขา การเขียนภาพใช้เทคนิคอย่างตะวันตก ให้แสงเงา แสดงถึงมิติและระยะใกล้-ไกล ไม่ใช้เส้นสินเทาในการแบ่งภาพ แต่ใช้แนวพุ่มไม้ และแถวการเดินทางของผู้คนเป็นเส้นนำสายตาไปสูภาพมณฑปพระพุทธบาท ภาพต้นไม้ใช้การระบายให้เป็นพุ่มและไล่สีอ่อนแก่ เช่นเดียวกับภาพท้องฟ้าที่มีปุยเมฆขาวและแรเงาให้เห็นบรรยากาศของท้องฟ้าอย่างเป็นธรรมชาติ
ประติมากรรมปูนปั้นเรื่องพุทธศาสนาวัดบางกะพ้อม
ภาพปูนปั้นระบายสีและใช้เทคนิคการปิดทองประดับกระจกอยู่ที่บริเวณผนังทั้ง 4 ด้านของวิหารพระพุทธบาท ผนังด้านทิศตะวันออกเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญได้แก่ นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ลอยถาด เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ผนังด้านทิศใต้เล่าเรื่องถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ โดยมีภาพจริยวัตรสงฆ์ประกอบร่วมอยู่ด้วย ผนังด้านทิศตะวันตกเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 องค์ ผนังด้านทิศเหนือเล่าเรื่องตำนานรอยพระพุทธบาท
สถาปัตยกรรมวัดเฉลิมพระเกียรติ
พระอุโบสถ พระวิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พระอุโบสถมีขนาดใหญ่กว่าพระวิหาร มีซุ้มใบเสมาอย่างเทศทั้ง 8 ทิศ ทั้งพระอุโบสถและพระวิหารมีรูปแบบอย่างพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมทึบไม่ประดับบัวหัวเสารองรับเครื่องหลังคาอยู่โดยรอบอาคาร และไม่มีคันทวย หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันปรากฏอิทธิพลแบบจีน โดยเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมเรียบ ซ้อนชั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีที่ประดิษฐ์เป็นลายดอกพุดตานก้านแย่งสลับใบ กรอบหน้าบันไม่ประดับเครื่องลำยอง จึงไม่ปรากฏช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่ทำเป็นรูปเศียรนาคแทน
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อเป็นแนวระเบียงคดในผังสี่เหลี่ยมล้อมรอบพระอุโบสถ หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งโดยมีโครงสร้างแบบคอนกรีต หน้าบันแต่ละทิศประดับลวดลายไทยที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่เน้นความอ่อนช้อย
สถาปัตยกรรมพระปั้นหย่า
พระปั้นหย่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงตึกอย่างตะวันตกที่ผสมกับจีน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลวดบัวขนาดใหญ่คาดรอบอาคารเพื่อแบ่งชั้นอาคารให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังคาพระปั้นหย่ามุงด้วยกระเบื้องและประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนเป็นรูปดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ กลางหน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎ สองข้างขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนังอาคารภายนอกเรียบง่าย ไม่ประดับลวดลาย กรอบประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม