ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 345 ถึง 352 จาก 880 รายการ, 110 หน้า
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท

พระที่นั่งองค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังเจาะช่องประตูและหน้าต่างทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ โดยรูปทรงของช่องเหล่านี้เป็นแบบโค้งแหลมหรือ Pointed Arch หลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนนี้สันนิษฐานว่าเป็นทรงจั่ว โครงทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องซึ่งได้พังทลายไปหมดแล้ว ส่วนที่สองคือพื้นที่ด้านหลัง เดิมทีส่วนนี้เคยมี 2 ชั้น โดยพื้นชั้นที่สองทำจากไม้จึงสูญสลายผุพังไปหมด เหลือให้เห็นเพียงแนวเสาอิฐรับโครงสร้างและแท่นฐานใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกลางของผนังด้านตะวันออกชั้นสองมีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ส่วนด้านข้างของผนังตะวันออกเป็นช่องประตู มีบันไดทอดลงไปสู่ห้องโถงส่วนแรก หลังคาของส่วนนี้คงเป็นยอดมหาปราสาท

พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมพระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์มีพื้นที่ทั้งสิ้นราว 42 ไร่เศษ แผนผังรูปสี่เหลียมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ตัวเมือง กำแพงก่ออิฐถือปูน ส่วนบนมีใบเสมารายรอบตลอดแนว มีป้อมที่กลางด้านและมุมกำแพงภายในพระราชวังแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกยังคงปรากฏอาคารต่างๆ จำนวนหนึ่ง เช่น อ่างเก็บน้ำ หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตึกรับรองราชทูต ตึกพระเจ้าเหา โรงช้างเขตพระราชฐานชั้นกลาง มีอาคารสำคัญคือ พระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งดุสิตสวรรคัญญมหาปราสาท หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทิม เขตพระราชฐานชั้นใน มีอาคารสำคัญคือ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกพระประเทียบ

ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรีตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเหนือและใต้เคยมีปรางค์องค์เล็กๆ ขนาบข้างอยู่ ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นตรีมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ยังคงเห็นการประดับตกชั้นซ้อนแต่ละชั้นด้วยกลีบขนุน

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง

พระธาตุหริภุญชัย
ลำพูน
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย

พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

รัตนเจดีย์
ลำพูน
สถาปัตยกรรมรัตนเจดีย์

รัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น แผนผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานค่อนข้างชำรุด ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม มุมทั้งแปดของเรือนธาตุตกแต่งด้วยเสาอิง ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยองค์ระฆัง ยอดสุดพังทลายลงแล้ว

พระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง

พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

พระธาตุศรีสองรัก
เลย
สถาปัตยกรรมพระธาตุศรีสองรัก

พระธาตุศรีสองรักสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน มีองค์ประกอบทางศิลปกรรมลำดับจากส่วนล่างไปยังส่วนบน ได้แก่ ฐาน องค์บัวเหลี่ยม และยอดฐาน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุม องค์ประกอบของฐานส่วนนี้เป็นแบบแผนของล้านช้าง คือ มีลูกแก้วขนาดใหญ่ (บัวเข่าพรหม) ซึ่งพัฒนามาจากฐานสิงห์ในศิลปะอยุธยาอยู่ด้านล่างของฐานบัว และบัวคว่ำมีส่วนปลายตวัดงอนขึ้น เป็นที่มาของการเรียกฐานบัวศิลปะล้านช้างว่า ฐานบัวงอน องค์บัวเหลี่ยม มุมทั้งสี่ประดับด้วยปูนปั้นรูปกาบ ทรวดทรงเตี้ย ส่วนล่างใหญ่จากนั้นตอนบนค่อยๆสอบเล็กลง ยอด ประกอบด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมเตี้ยๆ และยอดกรวยในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของปล้องไฉนและปลีของเจดีย์ทรงกลม