ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมดอนขุมเงิน
จากสภาพปัจจุบันซึ่งพังทลายและถูกรื้อทำลายอย่างมาก ทำให้เห็นว่าศาสนสถานแห่งนี้มีหลายอย่างที่ผิดแปลกไปจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรอื่นๆ ทั่วไป เช่น หินทรายที่นำมาใช้ก่อสร้างมิได้มีความหนาเฉกเช่นหินทรายตามปราสาทหินทั่วไป หินทรายบางจุดนำมาก่อในลักษณะของแนวคันเขื่อนมากกว่านำมาเรียงก่อเป็นตัวสถาปัตยกรรมแบบปราสาทหิน แผนผังของศาสนสถานหลังนี้ประกอบด้วยอาคารประธานหินทราย สภาพพังทลายและถูกรื้อทำลายจนเหลือแต่ฐาน สันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมได้ยาก ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของอาคารประธานมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมที่กรุผนังบ่อด้วยหินทราย มีขั้นบันไดลงสู่บ่อด้วย ถัดออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใช้หินทรายก่อเป็นแนวคันเขื่อน ภายในค้นพบฐานประดิษฐานโคที่มีจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน พื้นที่โดยรอบยังเห็นหินทรายที่ก่อเป็นแนวกำแพงเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังค้นพบแนวท่อโสมสูตรอยู่ทางทิศตะวันตกด้วย เข้าใจว่าเป็นแนวที่ทอดยาวมาจากห้องครรภคฤหะหรือสระน้ำ
สถาปัตยกรรมเขาคลังนอก
เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ไม่มีปูนฉาบหรือปูนปั้นประดับ เฉพาะองค์เจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่บนลานยอดเท่านั้นที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักเขาคลังนอกมีลักษณะเป็นฐานขนาดใหญ่ซ้อนชั้นกัน บนลานยอดสุดมีเจดีย์ 1 องค์ แผนผังของฐานขนาดใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ 5 เก็จ โดยแต่ละด้านจะประกอบด้วยเก็จกึ่งกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เก็จที่ขนาบเก็จกึ่งกลางมี 2 เก็จขนาดเล็กที่สุด และเก็จที่มุม 2 เก็จ ทุกด้านมีแนวบันไดทางขึ้นสู่ลานยอดพาดผ่านจากเก็จใหญ่ที่กึ่งกลาง ผนังของฐานมีลวดบัวหลายเส้นซ้อนลดหลั่นกัน โดยลวดบัวสำคัญที่แสดงถึงความเป็นศิลปะทวารวดี ได้แก่ บัววลัย หรือกลศ นอกจากนี้ยังประดับตกแต่งผนังของฐานด้วยวิมานหรือปราสาทจำลอง แต่ละด้านมีวิมาน 8 หลังประดับอยู่ที่เก็จขนาบเก็จกึ่งกลาง เก็จมุม และผนังระหว่างเก็จ รูปแบบของลวดบัวทำหนึกถึงลวดบัวในศิลปะปาละตอนต้น ในขณะที่วิมานทำให้นึกถึงศิลปะโจฬะตอนต้น ลานยอดมีเจดีย์ก่ออิฐ 1 องค์ สร้างด้วยอิฐแบบทวารวดีที่ผสมแกลบข้าวในเนื้ออิฐค่อนข้างมาก สภาพปรักหักพังจนศึกษารายละเอียดได้ลำบาก มีแนวหลุมเสากลมล้อมรอบเจดีย์แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีหลังคาคลุมลานยอดนี้
สถาปัตยกรรมเขาคลังใน
เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ศิลาแลง แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ มีบันไดทางขึ้นสู่ลานด้านบนทางทิศตะวันออกสภาพปัจจุบันปรักหักพังมาก หลักฐานที่เหลืออยู่เป็นเพียงส่วนฐานขนาดใหญ่ ไม่ทราบส่วนยอดที่แท้ตั้งหรือรูปแบบอาคารบนลานด้านบนว่าเป็นอย่างไร พบงานปูนปั้นประดับส่วนฐานบ้าง โดยเฉพาะทางด้านใต้ โดยปั้นเป็นรูปคนแคระแบกและพรรณพฤกษา
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์
สถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
พระราชนิเวศน์มฤคทายวันประกอบด้วยพระที่นั่ง3องค์ที่มีทางเชื่อมต่อกันโดยตลอด ได้แก่ หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน หมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระที่นั่งทั้งหมดสร้างด้วยไม้สักทอง ลักษณะเป็นอาคาร2ชั้น เปิดโล่งยกพื้นสูงชั้นล่างทำเป็นคอนกรีต หลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าว มีบานเกล็ดระบายความร้อน ช่องหน้าต่าง แนวระเบียงและชายคาประดับด้วยไม้ฉลุลายแบบขนมปังขิง มีเสารองรับพระที่นั่งทั้งหมด1080 ต้น วางในแนวเดียวกัน เสาทุกต้นมีการหล่อขอบคอนกรีตที่ฐานและยกขอบเสาไม้ขึ้นไป มีรางน้ำที่ขอบฐานปูน เพื่อป้องกันมดและสัตว์อื่นๆซึ่งมีชุกชุม
สถาปัตยกรรมพระรามราชนิเวศน์
พระรามราชนิเวศน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นสไตล์ยุโรป ตัวอาคารมี 2 ชั้น หลังคามี 2 ยอดทรงสูง มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตัวอาคารมีผังเป็นตรีมุข แต่ละมุขมีบันไดทางขึ้นขนาดใหญ่เป็นทางขึ้นลง มุขด้านหน้าทางทิศตะวันออกถือเป็นจุดเด่นของอาคาร ประกอบด้วยวงกลมสามวงเรียงกันคล้ายรูปดอกจิก เรียกว่า ผังดอกจิกแบบโรมาเนสก์ (Rhenish Romanesque Trefoil Plan)โถงทางเข้าเป็นวงกลมขนาดใหญ่มีลักษณะโปร่งทะลุไปถึงเพดานชั้น 2 และเป็นที่ตั้งของบันไดใหญ่ของพระที่นั่ง ซึ่งเป็นการออกแบบในแนว จุงเกนสติล (Jugendstil) ที่พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆ ด้านทิศเหนือมีอาคารรองก่อสร้างต่ออกไปโอบล้อมที่ว่างตรงกลาง มีบริเวณสวนหรือที่ว่างตรงกลางตกแต่งแบบสวนยุโรป (Court) ภานในพระที่นั่งตกแต่งโดยใช้ทองแดง กระจกสี กระเบื้องเคลือบสี เหล็กหล่อ ช่อไฟกิ่งซึ่งเน้นความหรูหราแบบยุโรป
สถาปัตยกรรมพระปรางค์แดง
องค์ประกอบของพระปรางค์แดงได้แก่ แผนผังอาคารที่มีลักษณะเป็นจตุรมุข และมีการทำหน้าบันซ้อนชั้นทั้ง 4 มุข หากแต่ที่พระปรางค์แดงได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารจตุรมุขที่ทำหน้าบันซ้อนชั้นเลียนแบบเครื่องลำยองอย่างที่คุ้นเคยในสถาปัตยกรรมไทยองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากปราสาทแบบเขมร คือ ส่วนยอดที่มีปริมาตรค่อนข้างอวบอ้วน โดยยังคงใช้ระเบียบของเรือนซ้อนชั้นซึ่งมีทั้งหมด 5 ชั้น ลักษณะสอบขึ้นไปสู่ส่วนยอดบนสุด ใช้ระบบการย่อมุมที่มุมประธานทั้ง 4 ของส่วนยอด กึ่งกลางของชั้นซ้อนแต่ละชั้นทำเป็นช่องวิมานซึ่งมีเสาและกรอบซุ้มวางทับ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงจึงเป็นระเบียบที่คล้ายกับการทำส่วนยอดที่เป็นชั้นซ้อนของปราสาทแบบเขมร ซึ่งเป็นการจำลองส่วนของเรือนธาตุให้มีขนาดเล็กลงและซ้อนชั้นกันตามคติความเชื่อเรื่องปราสาทอันเป็นอาคารฐานันดรสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดของการประดับตกแต่งชั้นซ้อนเท่านั้นข้อน่าสังเกตประการหนึ่งคือ ส่วนยอดของพระปรางค์แดงไม่ได้ประดับประติมากรรมอันได้แก่บรรพแถลงหรือกลีบขนุนที่บริเวณชั้นซ้อนตามแบบที่ปราสาทแบบเขมรนิยมทำ มีแต่เพียงโครงสร้างของการทำเรือนซ้อนชั้นและช่องวิมานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของพระปรางค์แดงจะมีความสัมพันธ์กับปราสาทแบบเขมรดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่ก็พบว่าเทคนิคการก่อสร้างบางประการนั้นน่าจะได้รับอิทธิพลตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานศิลปกรรมในพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4 สังเกตได้จากการใช้ผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาซึ่งเป็นเทคนิคการก่อสร้างที่พบในสถาปัตยกรรมตะวันตก การทำช่องวิมานที่ชั้นซ้อนของส่วนยอดซึ่งมีซุ้มเป็นวงโค้งอย่างตะวันตก รวมทั้งการก่อส่วนยอดซึ่งแท้ที่จริงเป็นการก่ออิฐฉาบปูน ภายในมีลักษณะโปร่งสามารถมองทะลุถึงส่วนยอดได้ ในขณะที่ภายนอกเป็นการก่ออิฐและฉาบปูนให้แลดูเสมือนว่าเป็นการซ้อนชั้นหลังคาเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบเขมรเท่านั้น ซึ่งคงทำให้ส่วนยอดมีน้ำหนักเบาแม้ว่าจะมีปริมาตรมาก แตกต่างจากการก่อส่วนยอดด้วยหินอย่างปราสาทแบบเขมร
สถาปัตยกรรมหอชัชวาลเวียงชัย
หอชัชวาลเวียงชัยมีรูปแบบและแผนผังอาคารอย่างตะวันตก โดยสร้างขึ้นเลียนแบบอาคารแบบคลาสสิคในผังกลมซึ่งเป็นที่นิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สร้างเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ในผังกลม มีเสากลม 8 ต้นและผนังวงโค้งแบบอาร์เขต (Arcade) ช่วยรับน้ำหนัก และมีบันไดเวียนที่กลางอาคารไปสู่ชั้นบนที่มีระเบียงล้อมรอบ ราวบันไดทำด้วยเหล็กเส้นกลม ด้านบนสุดเป็นโดมขนาดใหญ่ กรุด้วยกระจกใสเรียงซ้อนกันในกรอบเหล็กเส้น เหนือยอดโดมเป็นซุ้มขนาดเล็กก่ออิฐฉาบปูนวางคานรูปวงแหวนและมีการคำยันยึดกับผนังห้องกลมด้วยเหล็กเส้นแบนในแนวทแยง 4 ทิศ เป็นที่สำหรับแขวนกระโจมไฟ