ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมภาพเล่าเรื่องรามายณะที่จันทิปรัมบะนัน
รูปแบบภาพล่าเรื่องที่จันทิปรัมบะนันมีพัฒนาการแล้วจากภาพเล่าเรื่องที่บุโรพุทโธ กล่าวคือ นิยมการถมพื้นที่ว่างจนเต็มไปด้วยลวดลายธรรมชาติ เช่น ภาพภูเขาและต้นไม้ ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เรียกโดยศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศว่า “การรังเกียจพื้นที่ว่างเปล่า” ซึ่งแสดงแนวโน้มที่ใกล้เคียงกับศิลปะชวาภาคตะวันออกเข้าไปทุกที แม้ว่าลักษณะบางประการจะใกล้เคียงกับศิลปะชวาภาคตะวันออก แต่ภาพบุคคลยังคงกลมกลึงมีปริมาตร และหลายครั้งยังคงหันหน้าตรงตามแบบภาพเล่าเรื่องในศิลปะอินเดีย
ประติมากรรมพระธยานิพุทธ อมิตาภะ
พระพุทธรูปในศิลปะชวาภาคกลางได้รับอิทธิพลที่ปะปนระหว่างศิลปะหลังคุปตะและศิลปะปาละของอินเดีย พระพุทธรูปมีพระวรกายอวบอ้วน มีอุณาโลมกลางพระนลาฏตามแบปาละ ห่มเฉียงแต่ไม่มีชายจีวรที่พระอังสาซ้ายซึ่งคล้ายกับศิลปะหลังคุปตะมากกว่า ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรตามแบบอินเดียเหนือและอยู่บนฐานกลีบบัวแบบปาละ
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุองค์นี้ถือเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางได้เป็นอย่างดี พระวิษณุทรงกิรีฏมกุฎที่ประดับด้วยตาบจำนวน 5 ตายตามแบบปาละ ทรงอุทรพันธะตามแบบอินเดียใต้ ทรงผ้านุ่งสั้นข้างยาวข้างซึ่งเป็นผ้านุ่งแบบหนึ่งในศิลปะปาละ มีเข็มขัดเพชรพลอยตามแบบปาละแต่มีผ้าคาดวงโค้งตามแบบอินเดียใต้ น่าสังเกตว่าเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางนั้นมักเป็นส่วนผสมกันระหว่างศิลปะปาละและอินเดียใต้
ประติมากรรมพระอคัสตยะ
ประติมากรรมพระอคัสตยะทรงชฎามกุฎที่มีกระบังหน้าประดับด้วยตาบตามแบบปาละ ทรงผ้าคาดเฉียงสั้น และทรงเข็มขัดโบหูกระต่ายตามแบบอินเดียใต้
ประติมากรรมพระมหิษาสูรมรรทนี
พระมหิษาสูรมรรทนีองค์ทรงเครื่องทรงสำหรับผู้หญิงตามแบบอินเดีย อันได้แก่ การทรงสร้อยคอรูปกากบาทซึ่งนิยมกับประติมากรรมสตรี เทพชั้นรองและเด็ก ที่ผ้านุ่งปรากฏเข็มขัดโบหูกระต่ายแทรกซ้อนเข้ากับผ้าคาดวงโค้งตามแบบอินเดียใต้
ประติมากรรมพระพรหม
พระพรหมองค์นี้ถือเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางได้เป็นอย่างดี พระพรหมทรงชฎามกุฎที่ประดับด้วยตาบจำนวน 3ตายตามแบบปาละ ทรงอุทรพันธะตามแบบอินเดียใต้ มีเข็มขัดเพชรพลอยตามแบบปาละแต่มีโบหูกระต่ายตามแบบอินเดียใต้ น่าสังเกตว่าเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางนั้นมักเป็นส่วนผสมกันระหว่างศิลปะปาละและอินเดียใต้
ประติมากรรมพระศิวะ
พระศิวะองค์นี้ถือเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษาเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางได้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงอุทรพันธะตามแบบอินเดียใต้ และมีโบหูกระต่ายตามแบบอินเดียใต้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การประดับมงกุฎกลับใกล้เคียงกับศิลปะปาละมากกว่า น่าสังเกตว่าเครื่องแต่งกายในศิลปะชวาภาคกลางนั้นมักเป็นส่วนผสมกันระหว่างศิลปะปาละและอินเดียใต้
ประติมากรรมท้าวกุเวรสำริด
ประติมากรรมสำริดขนาดเล็กในศิลปะชวาภาคกลาง คงเคยเป็นประติมากรรมส่วนตัวของพระภิกษุมาก่อน ทางด้านรูปแบบแล้วมีความคล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก ทั้งเครื่องแต่งกาย ประติมานวิทยาและรูปแบบบัลลังก์-แผ่นหลังประติมากรรมสำริดชิ้นนี้มีรูปแบบบัลลังก์ที่คล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก โดยเฉพาะการประดับอามลกะและหงส์ที่คานนอก และวยาลเหยียบช้าง ประภามณฑลมีเปลวไฟและมีฉัตรประดับ ท่แท่นบัลลังก์มีผ้าทิพย์รูปวงโค้ง