ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 25 ถึง 32 จาก 90 รายการ, 12 หน้า
อาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมอาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน

ที่ลานด้านหน้าจันทิปะนะตะรันนั้น ปรากฏอาคารซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นอาคารที่มีเทวดาถือนาคพันอยู่โดยรอบ เทวดาทรงกิรีฏมกุฎ แต่งกายตามแบบชวาตะวันออกคือประดับไปด้วยอุบะห้อยขนาดเล็กจำนวนมาก มือหนึ่งถือระฆังซึ่งใช้ในพิธีกรรมส่วนอีกมือหนึ่งถือถือลำตัวนาค อาคารหลังนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใช้ทำอะไร บางท่านเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรจึงอาจเป็นไปได้ที่เป็นอาคารที่ใช้ในการเสกน้ำมนต์

ฐานเป็นชั้น:  จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมฐานเป็นชั้น: จันทิปะนะตะรัน

ลานประธาน เป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นเพื่อรองรับจันทิประธาน ฐานเป็นชั้นนี้คงมีความหมายเกี่ยวพันกับเขาพระสุเมรุอันเป็นเขาแกนกลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของพระศิวะ อย่างไรก็ตาม อาคารด้านบนฐานดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้วจนถึงปัจจุบัน และอาจเป็นไปได้ที่อาคารหลังนี้อาจเคยเป็นทรง “เมรุ” หรืออาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบที่ปรากฏในศิลปะบาหลีในปัจจุบัน ฐานชั้นที่หนึ่ง สลักภาพเล่าเรื่องรามายณะบรรจุในกรอบสี่เหลี่ยม เริ่มต้นตั้งแต่ตอนหนุมานเดินทางไปถวายแหวนที่เกาะลังกา การเผากรุงลังกา การจองถนนจนถึงกุมภรรณล้ม ภาพเล่าเรื่องตอนนี้มีลักษณะคล้ายหนังตะลุงชวา (วาหยัง) มาก ฐานชั้นที่สอง สลักเรื่องของพระกฤษณะ ส่วนฐานชั้นบนสุด ได้แก่ฐานที่รองรับเทวาลัยประธาน ปัจจุบันปรากฏภาพสิงห์และนาคมีปีกสลับกัน

จันทิติกุส
โมโจเกอร์โต
สถาปัตยกรรมจันทิติกุส

เมืองโตรวูลัน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์มัชฌปาหิต สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เช่น จันทิติกุสซึ่งเป็นสระน้ำ หรือซุ้มประตูเทวาลัยต่างๆ โบราณสถานในเมืองนี้มักสร้างด้วยอิฐอันแตกต่างไปจากโบราณสถานสมัยชวาภาคตะวันออกแห่งอื่นๆที่มักสร้างด้วยหิน

โคปุระบาจังระตู
โมโจเกอร์โต
สถาปัตยกรรมโคปุระบาจังระตู

เป็นโคปุระที่งดงามที่สุดในสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิต เป็นโคปุระที่สร้างด้วยอิฐซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับสถาปัตยกรรมที่โตรวุลัน ตัวโคปุระมีซุ้มประตูที่ปรับด้วยหน้ากาลสลักอิฐ หน้ากาลมีเขา มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือซึ่งเป็นลักษณะปกติสำหรับหน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของโคปุระมีลักษณะคล้ายคลังกับเทวาลัยหลังเล็กที่จันทิปะนะตะรัน กล่าวคือ ประกอบด้วยหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองจำนวน 5 หลังประดับ เส้นรอบนอกของยอดวิมานมีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่งดงาม โคปุระที่มียอดปราสาทเช่นนี้ ต่อมาจะปรากฏอีกในศิลปะบาหลี

อาคารทรงเมรุที่ปุระอุลุนดานู
บราตัน
สถาปัตยกรรมอาคารทรงเมรุที่ปุระอุลุนดานู

ทะเลสาบบราตัน เป็นที่ตั้งของปุระอุลุนดานูซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ราชวงศ์เม็งวีใน พ.ศ.2167 เทวาลัยหลังนี้ถือว่าเป็นเทวาลัยที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในศิลปะบาหลี เนื่องจากเป็นอาคารทรงเมรุที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆกลางทะเลสาบ

ฐานขั้นบันไดที่ปุระเกห็น
บังลี
สถาปัตยกรรมฐานขั้นบันไดที่ปุระเกห็น

เทวาลัยในศิลปะบาหลี ย่อมแบ่งอกเป็น 3 ลานเสมอ โดยลานชั้นนอกมักอยู่ด้านล่างสุดของเชิงเขา แทนโลกบาดาล ลานชั้นกลาง ส่วนส่วนกลางของเชิงเขาหมายถึงโลกมนุษย์ และลานชั้นนอกหมายถึงสวรรค์อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้าอยู่ด้านบนสุดของเนินเขา การที่ความสูงของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดการสร้าง “พนักขั้นบันได” คั่นอยู่ในระหว่างลานแต่ละชั้น โดยช่างบาหลีได้ตกแต่งดังกล่าวด้วยประติมากรรมคั่นยู่เป็นระยะๆ ที่ด้านบนสุดปรากฏโคปุระซึ่งแสดถึงการกั้นพื้นที่ของจักรวาลในแต่ละชั้นและป้องกันสิ่งชั่วร้าย

ซุ้มประตู (โคปุระ) ที่ปุระเกห็น
บังลี
สถาปัตยกรรมซุ้มประตู (โคปุระ) ที่ปุระเกห็น

โคปุระ คือซุ้มประตูที่มียอดปราสาทด้านบน แสดถึงการกั้นพื้นที่ของจักรวาลในแต่ละชั้นและป้องกันสิ่งชั่วร้าย โคปุระในศิลปะบาหลี ย่อมประกอบด้วย “อาคารประธาน” และ “อาคารขนาบข้าง” เสมอ โดยบางครั้งอาคารขนาบข้างก็ปรากฏประตูด้วย เมื่อรวมกับประตูกลางแล้วจึงมีถึงสามประตู ด้านบนของประตูกลางมักปรากฏหน้ากาลขนาดใหญ่ หน้ากาลมีลักษณะดุร้าย ตาโปน มีเขี้ยว ยกมือขึ้นในท่าขู่ หน้ากาลมีหน้าที่ป้องกันความชั่วร้ายไม่ให้เข้าสู่เทวาลัย ยอดปราสาทประกอบด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบอินเดียใต้ อย่างไรก็ตาม กลับประดับไปด้วยสัตว์ประหลาดและกนกงอนคล้ายที่ประดับบนสันหลังคาวัดจีน ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากศิลปะชวาภาคตะวันออก

ซุ้มประตูแยกที่ปุระเกห็น
บังลี
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูแยกที่ปุระเกห็น

ซุ้มประตูแยก หรือที่เรียกกันในภาษาบาหลี จันทิเบนตาร์ (Candi Bentar) ถือเป็นลักษณะเฉพาะในศิลปะนี้ ซุ้มประตูดังกล่าวประกอบด้วยเรือนธาตุและยอดปราสาทที่ถูกผ่าครึ่ง โดยพื้นที่ที่ถูกผ่าตรงกลางไม่มีลวดบัวใดๆ ซุ้มประตูแยก มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันความชั่วร้ายเช่นเดียวกับซุ้มประตูที่มียอด