ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 409 ถึง 416 จาก 438 รายการ, 55 หน้า
หอพิสัยศัลยลักษณ์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมหอพิสัยศัลยลักษณ์

มีรูปแบบเป็นอาคารหอคอยสูง 4 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานอาคารที่มีลานกว้างซึ่งมีบันไดและพนักระเบียง ภายในอาคารมีบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ชั้น 2 มีระเบียงออกมาสู่ภายนอก ประดับพนักระเบียงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีการใช้ระบบผนังวงโค้งช่วยรองรับน้ำหนัก ผังอาคารมีลักษณะคล้ายหอสูงทรงสี่เหลี่ยมประกบกัน 2 ชุด ดังนั้นจึงมีหลังคา 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และหลังคาตัดทรงสี่เหลี่ยม ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูน ช่องหน้าต่างมีลักษณะเป็นช่องวงโค้งมีบานไม้เปิด -ปิด ยกเว้นช่องหน้าต่างชั้นบนสุดที่เจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยม

พระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

รูปแบบพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค เลียนแบบการสร้างโบสถ์ของศาสนาคริสต์ แผนผังพระอุโบสถเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่วแหลมสูง โดยเฉพาะด้านท้ายพระอุโบสถมีหลังคาเป็นยอดแหลม ช่องประตูหน้าต่างเป็นวงโค้งยอดแหลม ประดับด้วยกระจกสี ที่สำคัญคือด้านทิศตะวันออกเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถประดับกระจกสีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สั่งทำจากประเทศฝรั่งเศส ภายในพระอุโบสถตกแต่งแบบยุโรปโดยใช้โทนสีชมพูซึ่งเป็นสีประจำวันอังคารซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊กท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง

หอวิฑูรทัศนา
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมหอวิฑูรทัศนา

หอวิฑูรทัศนามีลักษณะเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น ในผัง 12เหลี่ยม ชั้นล่างของตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยช่วงเสาที่รองรับคานโค้ง ชั้นบนกั้นเป็นระเบียงด้วยกระเบื้องลูกถ้วย หลังคามุงกระเบื้อง ส่วนหอคอยที่สูงขึ้นไปมีการตกแต่งระเบียงด้วยไม้ฉลุลายแบบขนมปังขิง ยอดหอคอยมีลักษณะเป็นรูปโดมทรงครึ่งวงกลม ตัวอาคารทางสีแดงสลับเหลือง ภายในมีบันไดเวียนจากชั้นล่างสู่ชั้นบน

พระที่นั่งวิหารสมเด็จ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งวิหารสมเด็จ

ปัจจุบันพระที่นั่งวิหารสมเด็จเหลือแต่เพียงส่วนฐานซึ่งก่อด้วยอิฐ หันหนาไปทางทิศตะวันออก ตรงกลางคือส่วนที่เคยเป็นที่ตั้งของพระราชบัลลังก์ มีมุขยาวทางด้านตะวันออกและตะวันตก ด้านเหนือและใต้เป็นมุขสั้นๆ

พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์

พระที่นั่งองค์นี้เหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐานก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข ประดับตกแต่งฐานด้วยปูนปั้นรูปครุฑยุดนาค

ปรางค์วัดพุทไธสวรรย์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมปรางค์วัดพุทไธสวรรย์

ปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเหนือและใต้เคยมีมณฑปขนาบข้างอยู่ ปรางค์องค์นี้ก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุน ยอดสุดประดับด้วยนภศูลสำริด

ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์

ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างมีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านสกัด ส่วนผนังแปรเป็นช่องหน้าต่างซึ่งก่อด้านบนแบบทรงโค้งแหลม ชั้นบนมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางผนังแปร มีช่องหน้าต่างเรียงรายทุกด้าน หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง