ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์
คำสำคัญ : พระที่นั่ง, พระราชวังกรุงศรีอยุธยา
ชื่อหลัก | พระราชวังกรุงศรีอยุธยา |
---|---|
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ประตูชัย |
อำเภอ | พระนครศรีอยุธยา |
จังหวัด | พระนครศรีอยุธยา |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 14.357028 Long : 100.560099 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 668231.34 N : 1587780.48 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | เขตพระราชฐานชั้นนอก พระราชวังกรุงศรีอยุธยา |
ประวัติการสร้าง | พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เช่น ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพระราชหัตถเลขา เป็นต้น ให้ข้อมูลว่าเป็นพระมหาปราสาทที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ. 2175 ใช้เวลาสร้างนาน 11 เดือน ให้นามว่า ศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ ต่อมาพระองค์พระสุบินว่าพระอินทร์ตรัสบอกว่าให้ตั้งจักรพยุหะ พระโหราจารย์ได้ถวายพยากรณ์ว่านามพระที่นั่งไม่ต้องด้วยพระอินทร์ และให้เอาจักรพยุหะนั้นมาตั้งเป็นนามพระที่นั่งว่า จักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | พระราชวังโบราณได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ในระหว่างปีพ.ศ. 2523 – 2525 ได้มีการขุดแต่งและขุดค้นแนวฐานและลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานในบริเวณพระราชวังโบราณ ซึ่งกระทำต่อเนื่องมาถึงพ.ศ. 2526 สภาพโบราณสถานก่อนการขุดแต่งนั้นขอบเขตของพระราชวังถูกรบกวนและทำลายไป การขุดแต่งโบราณสถานได้แบ่งพื้นที่ของพระราชวังออกเป็น 4 ส่วน คือด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาในปีพ.ศ. 2530 มีการขุดแต่งเนินโบราณสถานด้านทิศตะวันตกของพระราชวังหลวงเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมก่อนทำการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พบโบราณสถาน เช่น พระที่นั่งทรงปืนและโบราณสถานอื่นๆที่กล่าวในเอกสารกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตก และมีการขุดแต่งประตูน้ำอุดมคงคา ซึ่งพบโดยบังเอิญระหว่างตามรากฐานกำแพงพระราชวังชั้นนอกด้านทิศตะวันตก พร้อมกับขุดแต่งบริเวณโดยรอบถังน้ำ และจากการขุดแต่งด้านหลังพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ พบ กำแพง ประตูน้ำ ประตูกำแพง ป้อม แนวอิฐ สะพาน ทางเดิน และรางระบายน้ำ การขุดแต่งอีกครั้งเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2532 โดยขุดแต่งตำหนักสวนกระต่าย และขุดแต่งประตูชลทิศทวารสาคร พร้อมกับขุดแต่งโบราณสถานเกี่ยวกับท่อประปา ในปีงบประมาณพ.ศ. 2538 บริษัทสุรศักดิ์ก่อสร้างประมูลได้ทำงานในส่วนการขุดแต่งแนวกำแพงพระราชวังให้ต่อเนื่องกับแนวกำแพงที่ได้มีการบูรณะไว้ก่อน โดยกระทำทางด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศตะวันตก ในปีพ.ศ. 2539 มีการขุดแต่งและขุดค้นแนวโบราณสถาน โดยขุดหากำแพงพระราชวังโบราณด้านทิศตะวันออกติดกำแพงวัดธรรมิกราช ทิศเหนือไม่ไกลจากแม่น้ำลพบุรี และทิศตะวันตกไม่ไกลจากคลองท่อ โบราณวัตถุที่พบมีทั้งเศษภาชนะดินเผาทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ องค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น กระเบื้องดินเผา กระจังดินเผา ยุทธภัณฑ์ เช่น กระสุน หัวลูกศร พระพุทธรูป แม่พิมพ์ เงินตรา เครื่องใช้ต่างๆ ชิ้นส่วนประติมากรรม |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระที่นั่งองค์นี้เหลือหลักฐานเฉพาะส่วนฐานก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข ประดับตกแต่งฐานด้วยปูนปั้นรูปครุฑยุดนาค |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | 1. พระที่นั่งองค์นี้มีนามเดิมว่า ศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเมืองพระนครหรือเมืองพระนครหลวงของกัมพูชา โดยคำว่า “ศิริยศโสธร” น่าจะมาจากนามทางการของเมืองพระนครว่า “ศิริยโสธร” ส่วน “บรรยงค์” น่าจะเกี่ยวข้องกับ “บายน” อันเป็นศาสนสถานกลางเมืองพระนครหลวง 2. พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ริมกำแพงที่คั่นกลางระหว่างพระราชฐานชั้นนอกกับพระราชฐานชั้นกลาง หันหน้าไปสู่ท้องสนามใหญ่ที่เรียกว่า สนามหน้าจักรวรรดิ น่าจะเทียบได้กับลานหินด้านหน้าพระราชวังกลางเมืองพระนครหลวง นอกจากนี้ฐานพระที่นั่งประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑยุดนาค น่าจะสัมพันธ์กับลานยกพื้นด้านหน้าพระราชวังหลวงในเมืองพระนครหลวงที่ตกแต่งด้วยรูปต่างๆ รวมถึงรูปครุฑยุดนาคด้วย 3. ตำแหน่งพระที่นั่งองค์นี้น่าจะให้แบบอย่างต่อพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร |
ข้อสังเกตอื่นๆ | คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง กล่าวถึงพระที่นั่งวิหารสมเด็จว่ามียอดเป็นมณฑป เป็นหนึ่งในพระที่นั่งที่เป็นหลักเป็นประธานและเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศกรุงศรีอยุธยา พรรณนาถึงพระที่นั่งองค์นี้ไว้ว่า “...มียอดมณฑปยอดเดียว ไม่มีปราลี มีมุขซ้อนสี่ด้าน แต่ด้านตระวันออกตระวันตกนั้น มีมุขสั้นซ้อนสองชั้น ด้านเหนือใต้มีมุขซ้อนสี่ชั้น เปนมุขยาวมาจดประตูเหนือใต้ ฝาไม่มี เปนปราสารทโถงอยู่บนกำแพงพระราชวัง เปนปราสารทสามชั้น ๆ ล่างสำหรับข้าทูลลอองธุลีพระบาทผ่ายน่าเฝ้า ชั้นกลางสำหรับข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายในภักดูแห่แลการมโหระศพ ชั้นบนสำหรับพระราชวงษานุวงษฝ่ายหน้าฝ่ายในเฝ้าแลดูกระบวนแห่ต่างๆในมุขยาวทั้งสองด้าน แต่ที่กลางจตุระมุขชั้นบนนั้น เปนที่ตั้งพระแท่น ทรงประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่และการมะโหระศพแลยกทับพยุหยาตรา... พระที่นั่งจักระวัติไพชยนต์มหาปราสาทองค์นี้ อยู่บนกำแพงพระราชวังด้านตะวันออก...” |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | อยุธยา |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 22 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ประเพณีราชสำนัก |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. ลานหินหน้าพระราชวังหลวงเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจต่อพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ 2. พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร โดยเชื่อว่าตำแหน่งและการใช้งานของพระที่นั่งองค์นี้ได้รับแบบแผนมาจากพระที่นั่ง |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-04-24 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทานุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ เอกสารจากหอหลวง ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2511. รังสี อ่วมทอง และคณะ, “เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องการศึกษาวิจัยหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากโครงการขุดแต่ง, ขุดค้น พระราชวังโบราณ จ.พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 - ปี พ.ศ. 2539”, สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539. ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532. |