ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 169 ถึง 176 จาก 383 รายการ, 48 หน้า
แบบร่างประติมากรรมพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมแบบร่างประติมากรรมพระบรมราชาอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบรมรูปอยู่ในลักษณะทรงฉลองพระองค์และพระมาลา ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระราชบัลลังก์ ซึ่งเป็นแบบร่างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร หรือพระปฐมบรมราชานุสรณ์

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระบรมรูปมีขนาดสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ทรงเครื่องกษัตริย์และสวมพระมาลา พระหัตถ์ขวาเงื้อพระแสงดาบในท่านำพล พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ทางจังหวัดจันทบุรี ประดิษฐานบนแท่น ทั้งสองด้านประดับด้วยประติมากรรมนูนสูงเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้านละ 2 กรอบ รวม 4 กรอบ เล่าเหตุการณ์ 4 เหตุการณ์ได้แก่ ภาพประชาชนหมดหวังเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่า ภาพพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเกลี้ยกล่อมประชาชนให้ร่วมกันกู้อิสรภาพ ภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีออกรบและได้รับชัยชนะทุกครั้ง และภาพความผาสุกของประชาชนหลังจากกู้เอกราชได้แล้ว ด้านหน้ามีแผ่นจารึกดวงฤกษ์และข้อความเทิดพระเกียรติ

อุทยานราชภักดิ์
ประจวบคีรีขันธ์
ประติมากรรมอุทยานราชภักดิ์

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์สยามตั้งอยู่บนแท่นเหนือฐานสีขาวยกมุมบริเวณที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ มีพานพุ่มที่มุมทั้ง 2 ฝั่ง มีพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 7 พระองค์ ได้แก่1. พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประทับยืน ทรงถือพระแสงของ้าวในอิริยาบถโน้มลงแผ่นดิน 2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับยืน ทรงถือทวนและสะพายพระแสงดาบในชุดนักรบ3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับยืน ทรงฉลองพระองค์ครุยและทรงมงกุฎ พระหัตถ์อยู่ในท่าเตรียมชักพระแสงดาบ4. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับยืน ทรงถือพระแสงดาบในท่าพร้อมรบ 5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชประทับยืน ทรงถือพระแสงดาบในฝัก6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือกล้องดูดาว พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระแสงดาบ 7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับยืน ทรงฉลองพระองค์แบบตะวันตก พระหัตถ์ซ้ายทรงจับกระบี่ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระมาลา

อนุสาวรีย์สหชาติ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมอนุสาวรีย์สหชาติ

อนุสาวรีย์เป็นรูปหมูยืนอยู่บนเนินหินหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านขวาของหมูตอนล่างเป็นชะโงกหินสูงใช้กันแดดฝนได้ ที่ฐานมีศิลาจารึกเป็นหินชนวนสีเทาขนาดกว้าง 80 ซม. สูง 58 ซม. จารึกข้อความถวายพระพรแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถว่า“โอม...(ข้อความลบเลือน)...ขอองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระเกียรติแพร่ พระชนมายุยืน ตราบศิลาลาญ...(ข้อความลบเลือน)”

พระพุทธปริตร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธปริตร

พระพุทธปริตรประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณค่อนข้างยาว พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยขนาดเล็ก ไม่มีอุษณีษะแต่มีรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว มีสังฆาฏิปลายตัดตรงพาดที่พระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี องค์พระระบายสีเหลืองส่วนพระภูษาทรงระบายสีแดงเข้ม

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศา รัศมีเป็นเปลวไฟ มีพระเกตุมาลา พระอังสาใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางเรียบไม่มีริ้ว ปรากฏรัดประคดและจีบเป็นแถบที่สบง ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายบนฐานแปดเหลี่ยม

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน

พระสยามเทวาธิราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช

รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ