ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประติมากรรมปูนปั้นเรื่องพุทธศาสนาวัดบางกะพ้อม
ภาพปูนปั้นระบายสีและใช้เทคนิคการปิดทองประดับกระจกอยู่ที่บริเวณผนังทั้ง 4 ด้านของวิหารพระพุทธบาท ผนังด้านทิศตะวันออกเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญได้แก่ นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส ลอยถาด เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ผนังด้านทิศใต้เล่าเรื่องถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ โดยมีภาพจริยวัตรสงฆ์ประกอบร่วมอยู่ด้วย ผนังด้านทิศตะวันตกเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าทั้ง 3 องค์ ผนังด้านทิศเหนือเล่าเรื่องตำนานรอยพระพุทธบาท

สถาปัตยกรรมวัดเฉลิมพระเกียรติ
พระอุโบสถ พระวิหาร อยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พระอุโบสถมีขนาดใหญ่กว่าพระวิหาร มีซุ้มใบเสมาอย่างเทศทั้ง 8 ทิศ ทั้งพระอุโบสถและพระวิหารมีรูปแบบอย่างพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ มีเสาพาไลทรงสี่เหลี่ยมทึบไม่ประดับบัวหัวเสารองรับเครื่องหลังคาอยู่โดยรอบอาคาร และไม่มีคันทวย หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบ หน้าบันปรากฏอิทธิพลแบบจีน โดยเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมเรียบ ซ้อนชั้น ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีที่ประดิษฐ์เป็นลายดอกพุดตานก้านแย่งสลับใบ กรอบหน้าบันไม่ประดับเครื่องลำยอง จึงไม่ปรากฏช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่ทำเป็นรูปเศียรนาคแทน

ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์

สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อเป็นแนวระเบียงคดในผังสี่เหลี่ยมล้อมรอบพระอุโบสถ หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งโดยมีโครงสร้างแบบคอนกรีต หน้าบันแต่ละทิศประดับลวดลายไทยที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่เน้นความอ่อนช้อย

สถาปัตยกรรมพระปั้นหย่า
พระปั้นหย่าเป็นสถาปัตยกรรมทรงตึกอย่างตะวันตกที่ผสมกับจีน ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาคารสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นมีลวดบัวขนาดใหญ่คาดรอบอาคารเพื่อแบ่งชั้นอาคารให้เห็นได้อย่างชัดเจน หลังคาพระปั้นหย่ามุงด้วยกระเบื้องและประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบแบบจีนเป็นรูปดอกไม้ใบไม้อย่างเทศ กลางหน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎ สองข้างขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ผนังอาคารภายนอกเรียบง่าย ไม่ประดับลวดลาย กรอบประตูหน้าต่างเป็นช่องสี่เหลี่ยม

ประติมากรรมประตูเสี้ยวกาง
ซุ้มประตูประกอบด้วยบานประตู 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยบานประตูสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 บาน พื้นสีแดง แต่ละบานสลักเป็นรูปทวารบาลอย่างจีนปิดทอง แต่งกายยืนเครื่องคล้ายทวารบาลแบบไทย ยืนเงื้อง่าถืออาวุธ ได้แก่ ง้าว ดาบ กริช โล่ อยู่บนหลังสัตว์ผสมต่างๆอย่างจีน รวมทั้งสิ้น 4 องค์ ที่ปากของทวารบาลแต่ละองค์แต่เดิมมีคราบยาฝิ่นสีดำติดอยู่เนื่องจากประชาชนทำมาป้ายถวายทวารบาล ในภายหลังได้มีการล้างทำความสะอาดคราบนั้นออก แต่ได้ทาสีดำไว้เพื่อแสดงถึงที่มาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นเอกลักษณ์ของทวารบาลหรือเสี้ยวกางที่วัดบวรนิเวศวิหาร

สถาปัตยกรรมเจดีย์
ชิ้นส่วนดั้งเดิมของเจดีย์องค์นี้เริ่มต้นจากส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ (อิฐที่รองรับเป็นของที่ทำขึ้นใหม่) อาจเป็นส่วนที่เทียบได้กับอัณฑะหรือองค์ระฆังของเจดีย์ทรงกลม ตอนล่างของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำนี้ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำบัวหงาย มีจารึกคาถาเย ธมฺมา ปรากฏอยู่ที่ตอนบนของส่วนที่คล้ายหม้อน้ำ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งเริ่มต้นจากแท่งกลมหรือก้านฉัตร ถัดขึ้นไปเป็นแผ่นหินซ้อนดหลั่นกันและลำดับขนาดจากใหญ่ไปเล็ก ส่วนนี้คือฉัตรซ้อนชั้นนั่นเอง บนยอดสุดเป็นรูปลูกแก้วกลม

ประติมากรรมใบเสมา
ใบเสมาแผ่นแบน ทั้ง 2 ด้านมีภาพสลักปรากฏอยู่ ด้านแรกทำรูปหม้อต่อด้วยกรวยอยู่ตรงกลางและกลีบบัวประดับอยู่ตอนล่าง ด้านที่สองทำรูปแท่นสี่เหลี่ยมต่อด้วยทรงกรวยอยู่ตรงกลางและกลีบบัวประดับอยู่ตอนล่าง ใกล้ๆกับรูปทรงกรวยมีข้อความจารึก รูปที่สลักอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสองมีความเห็นจากนักวิชาการเป็น 2 ทาง คือ บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นรูปสถูป ขณะที่บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นรูปเครื่องบวงสรวงทำนองบายศรี