ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมฐานเป็นชั้น: จันทิปะนะตะรัน
ลานประธาน เป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นเพื่อรองรับจันทิประธาน ฐานเป็นชั้นนี้คงมีความหมายเกี่ยวพันกับเขาพระสุเมรุอันเป็นเขาแกนกลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของพระศิวะ อย่างไรก็ตาม อาคารด้านบนฐานดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้วจนถึงปัจจุบัน และอาจเป็นไปได้ที่อาคารหลังนี้อาจเคยเป็นทรง “เมรุ” หรืออาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบที่ปรากฏในศิลปะบาหลีในปัจจุบัน ฐานชั้นที่หนึ่ง สลักภาพเล่าเรื่องรามายณะบรรจุในกรอบสี่เหลี่ยม เริ่มต้นตั้งแต่ตอนหนุมานเดินทางไปถวายแหวนที่เกาะลังกา การเผากรุงลังกา การจองถนนจนถึงกุมภรรณล้ม ภาพเล่าเรื่องตอนนี้มีลักษณะคล้ายหนังตะลุงชวา (วาหยัง) มาก ฐานชั้นที่สอง สลักเรื่องของพระกฤษณะ ส่วนฐานชั้นบนสุด ได้แก่ฐานที่รองรับเทวาลัยประธาน ปัจจุบันปรากฏภาพสิงห์และนาคมีปีกสลับกัน
สถาปัตยกรรมจันทิติกุส
เมืองโตรวูลัน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์มัชฌปาหิต สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เช่น จันทิติกุสซึ่งเป็นสระน้ำ หรือซุ้มประตูเทวาลัยต่างๆ โบราณสถานในเมืองนี้มักสร้างด้วยอิฐอันแตกต่างไปจากโบราณสถานสมัยชวาภาคตะวันออกแห่งอื่นๆที่มักสร้างด้วยหิน
สถาปัตยกรรมโคปุระบาจังระตู
เป็นโคปุระที่งดงามที่สุดในสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิต เป็นโคปุระที่สร้างด้วยอิฐซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับสถาปัตยกรรมที่โตรวุลัน ตัวโคปุระมีซุ้มประตูที่ปรับด้วยหน้ากาลสลักอิฐ หน้ากาลมีเขา มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือซึ่งเป็นลักษณะปกติสำหรับหน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของโคปุระมีลักษณะคล้ายคลังกับเทวาลัยหลังเล็กที่จันทิปะนะตะรัน กล่าวคือ ประกอบด้วยหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองจำนวน 5 หลังประดับ เส้นรอบนอกของยอดวิมานมีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่งดงาม โคปุระที่มียอดปราสาทเช่นนี้ ต่อมาจะปรากฏอีกในศิลปะบาหลี
ประติมากรรมครอบมุขลึงค์
มุขลึงค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้ที่มีพระโอษฐ์หนา พระนาสิกใหญ่พระเนตรโปน พระขนงต่อกันเป็นปีกกาและมีพระมัสสุตามแบบพื้นเมืองพระพักตร์แบบพื้นเมืองนี้แตกต่างอย่างมากไปจากพระพักตร์แบบอินเดียชวา-ซึ่งปรากฏมาก่อนในศิลปะมิเซิน E1 และจะปรากฏอีกในศิลปะมิเซิน A1 บางครั้ง ศิวลึงค์ที่ทำด้วยวัสดุปกติก็อาจถูกครีอบด้วย “ครอบโลหะมีค่า” ซึ่งทำให้ศิวลึงค์นั้นๆดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ครองโลหะนั้นอาจหล่อด้ยทอดแดง เงินหรือทองคำก็ได้
ประติมากรรมฐานรูปนางอัปสรเต้นรำและนักดนตรี
เนื่องด้วยอิทธิพลแบบอินเดียชวาได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งในศิลปะมิเซิน A1 ด้วยเหตุนี้ ประติมากรรมบุคคลในศิลปะมิเซิน A1 จึงมีลักษณะอ่อนช้อย พระพักตร์มีพระเนตรไม่โปน ไม่มีพระมัสสุ พระโอษฐ์บางตามแบบอินเดียชวา การทรงผ้าคาดวงโค้งเองก็เป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะอินเดียและชวามาก่อน
ประติมากรรมพระกรรติเกยะประทับบนนกยูง
พระกรรติเกยะ ทรงเป็นโอรสของพระศิวะ ด้วยเหตุนี้จึงแสดงความเป็น “พระกุมาร” หรือเป็นเด็กเสมอ นอกจากนี้ยังทรงนกยูงเป็นพาหนะและถือวัชระอันเป็นอาวุธของพระอินทร์มาก่อน
ประติมากรรมพระศิวะ
ประติมากรรมบุคลสมัยบิญดิ่น เริ่มมีการจัดระเบียบมากขึ้นกว่าสมัยก่อนหน้า คือ ตาบทุกตาบของพระเศียรขึ้นไปอยู่เหนือกระบังหน้าทั้งหมด ลักษณะสำคัญของประติมากรรมสมัยบิญดิ่นและสมัยหลัง คือประทับนั่งพิงแผ่นหลัง โดยพระหัตถ์จำนวนมากติดไปกับแผ่นหลัง ส่วนผ้านั่งเองกักชักชายผ้าวงโค้งหรือชายผ้าสามเหลี่ยมตกลงมาด้านหน้า
ประติมากรรมศิวนาฏราชบนหน้าบันของปราสาทโพกลวงการาย
แม้ว่าปราสาทโพกลวงการายจะมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 19 แต่หน้าบันรูปพระศิวนาฏราชชิ้นนี้กลับมีอายุเก่ากว่าเล็กน้อย คืออยู่ในศิลปะบิ่ญดิ่น แสดงให้เห็นถึงการนำเอาศิลปกรรมเก่ากลับมาใช้ใหม่ รูปแบบของมงกุฎพระศิวะนั้นสามารถเทียบได้กับมงกุฎในศิลปะบิญดิ่นโดยทั่วไป คือประกอบด้วยตาบเล็กๆ ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ในรูปสามเหลี่ยม ส่วนผ้านุ่งมีการชักชายผ้ารูปสามเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะประจำของศิลปะบิญดิ่นเช่นกัน