ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระพุทธปรางค์
ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน ส่วนล่างของปรางค์ทั้ง 3 องค์ เป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนเรือนธาตุของปรางค์ประธานเป็นอาคารแบบมณฑปจัตุรมุข ภายนอกมีประติมากรรมยักษ์ยืนกุมกระบองที่มุมย่อย ผนังมุมย่อยประดับกาบพรหมศร หลังคาจัตุรมุขซ้อน 3 ชั้นมุงกระเบื้อง ที่ตำแหน่งช่อฟ้าประดับนกเจ่า ใบระกา และหางหงส์ลดหลั่นลงมาตามลำดับ ส่วนยอดเป็นปรางค์ซ้อน 6 ชั้นประดับกลีบขนุนที่แนบชิดติดกัน มีชั้นเทพนมและยักษ์แบก ปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบข้างมีรูปแบบเหมือนกัน แตกต่างจากปรางค์ประธานเนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า หลังซ้อน 2 ชั้น หน้าบันเป็นสามเหลี่ยมเรียบ ไม่ประดับนกเจ่า ใบระกาและหางหงส์
ประติมากรรมประติมากรรมเรื่องสามก๊ก
ประติมากรรมหินสลักในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เล่าเรื่องราวตอนต่างๆจากวรรณคดีเรื่องสามก๊ก ภาพบุคคลแต่งกายอย่างจีน ภาพทิวทัศน์ประกอบด้วยต้นไม้ ท้องฟ้า ยานพาหนะและสัตว์ เป็นกระบวนลายสลักอย่างจีน
ประติมากรรมพระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธรูปทรงเครื่อง ครองจีวรห่มเฉียง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสามารถศึกษาเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยเดียวกันที่วัดนางนอง
ประติมากรรมพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ มีรูปแบบเหมือนกัน กล่าวคือ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางสมาธิ ประทับนั่งเหนือฐานบัวแข้งสิงห์ ส่วนบัวหงายเป็นบัวแวง มีผ้าทิพย์ที่ด้านหน้า พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง ระหว่างพระขนงและขอบเปลือกพระเนตรเป็นแผ่น พระเนตรค่อนข้างเล็ก เปิดเล็กน้อยและเหลือบต่ำ พระโอษฐ์เล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3