ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 21 รายการ, 3 หน้า
พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม

พระวิหารหลวงมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสูง ด้านหน้าหันทางทิศเหนือ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้มสลับเขียวซ้อนชั้น กรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง มีเสาพาไลย่อมุมรองรับเครื่องหลังคาโดยรอบพระวิหาร เสาพาไลประดับบัวหัวเสาปิดทองประดับกระจกและมีคันทวย หน้าบันเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจกรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านหน้าพระวิหารหลวงทางทิศเหนือมีมุขลด เครื่องหลังคาซ้อนชั้น ที่หน้าบันประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ

พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม

รูปแบบพระปรางค์วัดอรุณมีลักษณะที่พัฒนามาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา ส่วนฐานมีลักษณะผายกว้าง ประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่น แต่ละชั้นประดับด้วยประติมากรรมพลแบก ฐานลดหลั่นนี้ได้เอนสอบขึ้นไปรองรับเรือนธาตุซึ่งมีจระนำทั้งสี่ด้าน ประดิษฐานรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแทนการประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งการประดับรูปพระอินทร์ที่เรือนธาตุนี้นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระปรางค์มีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์จุฬามณีหรืออาจสะท้อนให้เห็นว่าองค์พระปรางค์หมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลส่วนยอดของพระปรางค์ประกอบด้วยกลีบขนุนซ้อนชั้น ที่ส่วนบนของจระนำทั้งสี่ด้านประดับด้วยยอดปรางค์ขนาดเล็ก เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดจึงเป็น 5 ยอดซึ่งการประดับยอดบริวารเช่นนี้เป็นรูปแบบที่เคยมีมาก่อนในศิลปะอยุธยา

โลหะปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท

โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

พระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม

พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีเสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ไม่ประดับบัวหัวเสารองรับน้ำหนักซึ่งทำให้อาคารดูมั่นคงแข็งแรง เครื่องหลังคาไม่ใช้เครื่องไม้ แต่เป็นงานก่ออิฐถือปูน หน้าบันไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ประดับลวดลายอย่างจีน โดยเป็นลายสัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคลและลายทิวทัศน์ กรอบหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นเครื่องถ้วยจีน หน้าบันแบ่งเป็น 2 ตับ ตับบนประดับรูปแจกันและช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ที่กึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยมังกรคู่ ถัดขึ้นไปเป็นหงส์คู่ และลายมงคลอื่นๆ ตับล่างเป็นภาพทิวทัศน์ มีบ้าน ภูเขา เขามอ ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ

พระบรมบรรพต
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมบรรพต

รูปแบบของบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงก่อแนวกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้น 2 ทางไปสู่อาคารโถง ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่อยู่ด้านบนสุด องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังศิลปะรัตนโกสินทร์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา

พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้าบานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสีหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีนหน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ 1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"

พระอุโบสถ วัดราชาธิวาส
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส

พระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเดิมเป็นด้านหน้าของวัด ปีประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ช่อง ภายในพระอุโบสถแบ่งเป็น 3 ส่วนส่วนแรกเป็นโถงระเบียงด้านหน้า ส่วนกลางเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธี และประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณีจำลองซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อเป็นพระประธาน มีนพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียร หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา มีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแสดงเรื่องพระเวสสันดรชาดก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ. ซี. ริโกลี (C. Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก (Fresco)ส่วนท้ายเป็นที่ประดิษฐานพระสัมพุทธวัฒโนภาสพระพุทธรูปประธานองค์เดิม ภายนอกพระอุโบสถที่ด้านหน้าก่อมุขเป็นซุ้มบันแถลงซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะลพบุรี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีฟ้า ที่หน้าบันกลางประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย มีซุ้มสองข้างประดิษฐานรูปพระสาวกนั่งขัดสมาธิพนมมือ ส่วนหลังคาด้านข้างตกแต่งด้วยซุ้มบันแถลงด้านละ 3 ซุ้มบริเวณเหนือชายคาปีกนกลงมาถึงบริเวณคอสอง

พระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

รูปแบบพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค เลียนแบบการสร้างโบสถ์ของศาสนาคริสต์ แผนผังพระอุโบสถเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่วแหลมสูง โดยเฉพาะด้านท้ายพระอุโบสถมีหลังคาเป็นยอดแหลม ช่องประตูหน้าต่างเป็นวงโค้งยอดแหลม ประดับด้วยกระจกสี ที่สำคัญคือด้านทิศตะวันออกเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถประดับกระจกสีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สั่งทำจากประเทศฝรั่งเศส ภายในพระอุโบสถตกแต่งแบบยุโรปโดยใช้โทนสีชมพูซึ่งเป็นสีประจำวันอังคารซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5