ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 17 รายการ, 3 หน้า
หมู่พระมหามณเฑียร
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมหมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียรเป็นอาคารทรงไทยประเพณีล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในหมู่อาคารประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 2.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 3.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานพระที่นั่งทุกองค์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับส้มและเหลืองกรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ที่หน้าบันประดับรูปเทวดาถือพระขรรค์ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบรรพแถลง ภายในพระที่นั่งแต่ละองค์เป็นห้องโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีทางเชื่อมระหว่างกัน มีเสาในประธานทรงสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักภายในพระที่นั่งแต่ละองค์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งที่เป็นภาพปรัมปราคติที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในราชสำนัก และภาพลวดลายประดับต่างๆ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีแผนผังเป็นอาคารทรงจัตุรมุขโถง ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ด้านนอกฉาบผนังเรียบทาสีขาว หลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจตุรมุขซ้อนชั้น ประดับเครื่องลำยองโดยปลายกรอบหน้าบันมีองค์ประกอบที่มีลักษณะเด่น เรียกว่านาคเบือน หลังคาพระที่นั่งมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวขอบสีส้ม ส่วนบนของเครื่องหลังคาประดับเรือนยอดแบบพระมหาปราสาท มุขด้านเหนือมีมุขเด็จยื่นมาทางด้านหน้าซึ่งประดิษฐานบุษบก มุขด้านใต้ภายในพระที่นั่งเจาะผนังเป็นพระที่นั่งบุษบกซึ่งสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 มุขทิศตะวันตกสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง มีทางเชื่อมไปยังศาลาเปลื้องเครื่องที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกมุขทิศตะวันออกมีทางเชื่อมไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ซุ้มพระทวารและซุ้มบัญชรเป็นเรือนยอด ภายในพระที่นั่งตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังลายเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับดาวเพดานไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทมีแผนผังเป็นทรงจัตุรมุข โดยด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นมุขยาว ส่วนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นมุขสั้น หลังคาซ้อนชั้นทำด้วยเครื่องไม้ประดับเครื่องลำยอง ปิดทองประดับกระจกมุงกระเบื้องดาดดีบุก ส่วนกลางชั้นหลังคาประดับเรือนยอดแบบพระมหาปราสาท หน้าบันพระที่นั่งเป็นรูปเทวดาประทับยืนบนแท่น พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ สองข้างมีเทพนม เสารับโครงสร้างพระที่นั่งปิดทองประดับกระจก มีบัวหัวเสาเป็นบัวแวง พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์เป็นพระที่นั่งโถง ไม่มีผนัง ด้านหน้ามีบันไดทอดมายังเกยสำหรับเทียบพระราชยาน

พระที่นั่งไชยชุมพล
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งไชยชุมพล

พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นพระที่นั่งชั้นเดียวบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง องค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูนในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูงเสมอกำแพง มีพระบัญชรที่เปิดถึงพื้นทั้ง 4 ด้าน พระทวารและพระบัญชรเป็นบานเกล็ดไม้ทาสี หลังคาเป็นทรงไทยซ้อน 2 ชั้น ซึ่งอาจเรียกการซ้อนชั้นเช่นนี้ว่าออกมุขลดทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดีบุก เครื่องลำยองปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ที่หน้าบันเป็นรูปกองทัพทั้ง 4 เหล่า ได้แก่ ทัพช้าง ทัพม้า พลรถ และพลเดินเท้า นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นภาพกระบวนแห่ในพระราชพิธีตรียัมปวาย หรือเป็นกระบวนสวนสนามของเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งน่าจะออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการที่ใช้พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นสถานที่ประทับทอดพระเนตรการฝึกทหารและกระบวนแห่ในการพระราชพิธีนั้น นอกจากนี้ที่ตอนบนสุดของหน้าบันยังมีภาพเทวดาทรงปลาเป็นพาหนะ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์และพระหัตถ์ขวาถือรวงข้าวปรากฏอยู่ด้วย รูปเทวดานี้สามารถเทียบเคียงได้กับรูปพระมหาชัยหรือพระไพรสพซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ การทำรูปเทวดาที่หน้าบันนี้จึงน่าจะมีความหมายว่ามีเทวดารักษาคุ้มครองและอำนวยพรแก่เหล่ากองทัพต่างๆ หรือกระบวนแห่ในพระราชพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองด้วย

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สูง 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 มุข โดยมีบริเวณที่เรียกว่า มุขกระสันเชื่อมต่อถึงกันจากด้านตะวันออกถึงตะวันตก มุขทั้ง 3 รองรับเครื่องหลังคาทรงปราสาทยอดส่วนหลังคาและยอดพระที่นั่งเป็นทรงปราสาทยอดแบบไทยประเพณี แต่ด้วยการประกอบเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก จึงทำให้มีสัดส่วนที่ต่างไปจากพระมหาปราสาทองค์อื่น เช่น ความเอียงลาดของหลังคาที่น้อยลง เครื่องลำยองที่มีขนาดอ้วนและสั้นกว่าปกติ เป็นต้นมุขกลางมีมุขเด็จสำหรับเสด็จออก ที่พระเฉลียงของมุขเด็จประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบบเหมือนจริงทำด้วยโมเสกตัวอาคารตกแต่งด้วยศิลปะตะวันตกยุคเรเนสซองส์ ประดับช่องหน้าต่างวงโค้งที่ชั้นบน ส่วนชั้นที่สองเป็นช่องหน้าต่างในกรอบสี่เหลี่ยม คั่นจังหวะด้วยเสาโครินเธียนติดผนัง รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปจากพระมหาปราสาทแบบไทยประเพณี กล่าวคือ มีการประดับสัญลักษณ์ต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ใช้รูปนารายณ์ทรงครุฑอีกต่อไป แต่ได้ใช้รูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น พระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า รองรับด้วยช้างสามเศียรซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปจักรและตรีล้อมด้วยสายสังวาลนพรัตน์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงพระราชวงศ์จักรี รวมทั้งยังประดับตราประจำแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5

พระที่นั่งอนันตสมาคม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอนันตสมาคม

พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ (Italian Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic) ตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี มีจุดเด่น คือหลังคาโดมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดงภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก เป็นภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลีและศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ได้แก่เพดานโดมด้านทิศเหนือ เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จกลับจากราชการทัพที่เขมรเพดานโดมด้านทิศตะวันออก เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปถัมภ์งานศิลปะเพดานโดมด้านทิศตะวันตก เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยพระภิกษุและนักบวชต่างชาติศาสนนิกายต่างๆเพดานโดมด้านทิศใต้ของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลิกทาสเพดานโดมด้านทิศตะวันออกของท้องพระโรงกลาง เป็นภาพเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2454 เพดานโดมกลาง ซึ่งเป็นโดมใหญ่ที่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานนับจากใต้โดมตลอดทั้งบริเวณท้องพระโรงกลางมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” สลับกัน “วปร.” อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งพิมานจักรี
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งพิมานจักรี

พระที่นั่งพิมานจักรีเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบยุโรปแบบโกธิค-โรมาเนสก์ จุดเด่นของพระที่นั่งอยู่ที่ยอดโดมสีแดงซึ่งจะมีการเชิญธรงมหาราชขึ้นสูงยอดเสาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับ บริเวณฝาผนังและเพดานของพระที่นั่งมีภาพเขียนลายดอกไม้แบบปูนเปียก บานประตูเป็นไม้จำหลักปิดทอง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อเหนือบานประตูว่า "ร.ร.๖" หมายถึง สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ 6ภายในชั้น1ของพระที่นั่งพิมานจักรีประกอบด้วย ห้องเสวย ห้องธารกำนัล ห้องพระโอสถมวน ห้องนอนซึ่งเป็นห้องสำหรับให้ข้าราชบริพารเข้าเฝ้า ต่อมาเมื่อเปลี่ยนเป็นโฮเต็ลวังพญาไทห้องนี้จึงกลายเป็นห้องอาหาร ชั้นที่ 2 ประกอบด้วยห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องบรรณาคม ห้องพระบรรทม ห้องทรงพระอักษร ภายในตกแต่งแบบยุโรปภายในมีเตาผิงซึ่งด้านบนประดิษฐานพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวภายใต้พระมหามงกุฏซึ่งล้อมรอบด้วยรัศมี นอกจากนี้ยังมีภาพพญามังกรหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระราชาและปีพระราชสมภพ

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ

มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊กท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง