ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระที่นั่งไชยชุมพล
คำสำคัญ : พระบรมมหาราชวัง, ที่ประทับ, พระที่นั่ง, พระที่นั่งไชยชุมพล, วังหลวง
ชื่อหลัก | พระบรมมหาราชวัง |
---|---|
ชื่ออื่น | วังหลวง |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | พระบรมมหาราชวัง |
อำเภอ | เขตพระนคร |
จังหวัด | กรุงเทพมหานคร |
ภาค | ภาคกลาง |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.751274 Long : 100.493593 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 661482.64 N : 1520719.2 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ริมกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก |
ประวัติการสร้าง | สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 |
---|---|
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นพระที่นั่งชั้นเดียวบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง องค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูนในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูงเสมอกำแพง มีพระบัญชรที่เปิดถึงพื้นทั้ง 4 ด้าน พระทวารและพระบัญชรเป็นบานเกล็ดไม้ทาสี หลังคาเป็นทรงไทยซ้อน 2 ชั้น ซึ่งอาจเรียกการซ้อนชั้นเช่นนี้ว่าออกมุขลดทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดีบุก เครื่องลำยองปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ที่หน้าบันเป็นรูปกองทัพทั้ง 4 เหล่า ได้แก่ ทัพช้าง ทัพม้า พลรถ และพลเดินเท้า นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นภาพกระบวนแห่ในพระราชพิธีตรียัมปวาย หรือเป็นกระบวนสวนสนามของเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งน่าจะออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการที่ใช้พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นสถานที่ประทับทอดพระเนตรการฝึกทหารและกระบวนแห่ในการพระราชพิธีนั้น นอกจากนี้ที่ตอนบนสุดของหน้าบันยังมีภาพเทวดาทรงปลาเป็นพาหนะ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์และพระหัตถ์ขวาถือรวงข้าวปรากฏอยู่ด้วย รูปเทวดานี้สามารถเทียบเคียงได้กับรูปพระมหาชัยหรือพระไพรสพซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ การทำรูปเทวดาที่หน้าบันนี้จึงน่าจะมีความหมายว่ามีเทวดารักษาคุ้มครองและอำนวยพรแก่เหล่ากองทัพต่างๆ หรือกระบวนแห่ในพระราชพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองด้วย |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4 คราวเดียวกับการสร้างหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ตั้งอยู่บนแนวกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก ระหว่างประตูสวัสดิโสภาและประตูเทวาพิทักษ์ ตรงกับถนนบำรุงเมือง รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อพระที่นั่งไชยชุมพลให้คล้องจองกับพระที่นั่งบนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออกที่มีอยู่เดิม รวมทั้งพระที่นั่งและหอต่างๆที่สร้างขึ้นใหม่ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งกลุ่มพระที่นั่งสำคัญที่อยู่บนแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก ได้แก่ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งภูวดลทัศนัย และพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ พระที่นั่งไชยชุมพลสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่พระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวายและการฝึกทหาร ดังจะเห็นได้ว่าพระที่นั่งองค์นี้อยู่ตรงกับสถานที่ประกอบพระราชพิธีโดยตรง |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | รัตนโกสินทร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | ประเพณีในราชสำนัก |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-05-26 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | สำนักราชเลขาธิการ.สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรมกับงานช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4. นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555. |