ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 13 รายการ, 2 หน้า
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

โขนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเป็นรูปนาค 7 เศียร กลางลำทอดบุษบกสำหรับเชิญผ้าพระกฐินหรือประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

โขนเรือเป็นรูปหงส์แกะสลักลวดลายกระหนก ลงรักปิดทองประดับกระจกลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ ลำเรือด้านนอกทาสีดำภายในทาสีแดงกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาและกั้นพระวิสูตรสำหรับเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการพระราชพิธีจะประดับปลายปากหงส์โขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ด้วยพู่ทำด้วยขนจามรีซึ่งนำมาจากประเทศเนปาลมีลักษณะเป็นขนสีขาวนุ่มละเอียด ปลายพู่เป็นแก้วผลึก

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

โขนเรือเป็นประติมากรรมรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศัตราได้แก่ ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ประทับยืนเหนือครุฑ ไม้หัวเรือแกะสลักปิดทองร่องชาดประดับกระจกสีขาบ พื้นลำเรือทาสีแดง ลำเรือประดับลายก้านขดกระหนกเทศ กลางลำเรือประดับบัลลังก์กัญญา ท้ายเรือพระที่นั่งตลอดปลายประดับลวดลายกระหนกแทนขนปีกและหางครุฑ

พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล

บุษบกทุกองค์ทำด้วยโลหะปิดทองประดับกระจก มีลักษณะเป็นบุษบกโถง ประกอบด้วยเสาย่อมุมทั้ง 4 มุม รับเครื่องหลังคาที่เป็นยอดแหลม ซุ้มสาหร่ายทุกด้านออกลายเทพนม ส่วนฐานบุษบกประดับชั้นเทพนมบุษบกด้านทิศเหนือประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ 1-3 ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นรูปพระมหามงกุฎไม่มีกรรเจียก พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นรูปครุฑยุดนาค พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระวิมาน บุษบกด้านทิศใต้องค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระมหามงกุฎมีกรรเจียกประดับ และอีกองค์หนึ่งประดิษฐานพระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยว บุษบกด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประดิษฐานประบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ดังนี้พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปวชิราวุธ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนิวาต เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร์ เป็นรูปดุสิตเทพบุตรประทับนั่งห้อยพระบาทขวาบนบัลลังก์ดอกบัว พระบรมราชสัญลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีอุณาโลมล้อมด้วยจักรและรัศมีอยู่เหนือพระที่นั่ง ด้านบนมีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระบรมราชสัญลักษณ์ทั้งหมดประดิษฐานภายในบุษบกเหนือฐานหินอ่อน รอบฐานมีประติมากรรมรูปช้างทำด้วยสำริด หมายถึงพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญในรัชกาลนั้นๆ

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

มีรูปแบบเป็นปราสาททรงจัตุรมุข ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณหน้าบัน บัวหัวเสา และกาบพรหมศร ส่วนยอดเป็นปรางค์มีทั้งหมด 5 ยอด โดยประดับอยู่ที่กลางสันหลังคามุขทั้ง 4 และยอดประธานซึ่งมีความสูงที่สุด ทุกยอดประดับนภศูล ภายในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากนัก ใช้เทคนิคการก่ออิฐแนวผนังและเพดานโดยก่อเป็นวงโค้งปลายแหลม ซึ่งช่องวงโค้งค่อนข้างแคบจึงช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาที่มีถึง 5 ยอดได้เป็นอย่างดี

โลหะปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท

โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

วิหารวัดองค์ตื้อ
เวียงจันทน์
สถาปัตยกรรมวิหารวัดองค์ตื้อ

เป็นอาคารในสกุลช่างเวียงจันทน์ที่หลังคาด้านข้างไม่ได้เตี้ยติดพื้นมาก และมีการแบ่งกรอบหน้าบันออกเป็นปีกนก หน้าบันแสดงเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษา ด้านล่างหน้าบันมีการแบ่งช่องในแผงแรคอสองอันเป็นลักษณะโดดเด่นของหน้าบันในสกุลช่างเวียงจันทน์ และด้านล่างสุดมีโก่งคิ้วซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏร่วมกันทั้งในล้านนาและลาว ด้านหน้ามีโถงทางเข้าก่อนที่จะเข้าไปภายในห้องประธาน ปรากฏหัวเม็ดทรงมัณฑ์ในทรงยืดสูงอันเป็นลักษณะที่โดดเด่นในศิลปะลาว

สิงห์ยกขาจากปราสาทจาเกียว
ประติมากรรมสิงห์ยกขาจากปราสาทจาเกียว

ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทจาเกียวทั้งหมด มักอยู่ในทาทางเคลื่อนไหวอันถือเป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมรูปสัตว์ในระยะนี้ รูปสิงห์เองก็มีท่าทางยกขาขึ้นและเอี้ยวตัวเคลื่อนไหวอย่างมาก อนึ่ง สิงห์ซึ่งมีเขาแพะนั้นเรียกว่า “วยาล” ในศิลปะอินเดีย