ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปทรงเครื่อง
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นหันฝ่าพระพระหัตถ์ออกทางด้านหน้า เรียกว่าแสดงปางประทานอภัย หรือปางห้ามสมุทร สวมมงกุฎที่มีแต่กระบังหน้า ไม่มีรัดเกล้ากรวย จึงเห็นพระอุษณีษะและพระรัศมีชัดเจน ทั้งยังไม่ปรากฏเครื่องทรงอื่นใดอีก จึงจัดว่าเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม บางแนบพระวรกาย แลเห็นรัดประคด (สายรัดเอว) และสบงที่ทำตรงกลางตกลงมาเป็นแถบหน้านางพุทธลักษณะโดยรวมเป็นแบบอยุธยาตอนกลางที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ศิลปะสุโขทัย เช่น พระพักตร์วงรูปไข่ พระขนงโค้งโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เล็กสมส่วน กระบังหน้ามีรูปแบบที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับเทวรูปในศิลปะสุโขทัยซึ่งมีต้นแบบดั้งเดิมมาจากกระบังหน้าในศิลปะลพบุรีอีกทอดหนึ่ง โดยกระบังหน้าประดับด้วยชั้นลวดลาย กึ่งกลางเป็นลายประจำยาม แนวขอบล่างของกระบังหน้าหยักแหลมลงตรงกลางล้อไปตามความโก่งโค้งของพระขนง และหยักแหลมบริเวณขมับ
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานสูงที่ประดับตกแต่งด้วยกลีบบัวหงายและเหตุการณ์ตอนตรัสรู้หรือชนะมารลักษณะเด่นของพระพุทธรูปคือ มีวงพระพักตร์ค่อนข้างเป็นวงรูปไข่ พระรัศมีเปลว โดยรวมสะท้อนการคลี่คลายจากศิลปะสุโขทัยอันเป็นรูปแบบหนึ่งของพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนกลาง ครองจีวรห่มเฉียง บางแนบเนื้อ ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ฐานรองรับพระพุทธรูปเป็นฐานสูงที่ประดับตกแต่งด้วยเหตุการณ์ตอนตรัสรู้ แถวล่างสุดเป็นกองทัพของพญามารที่เข้ามาผจญพระพุทธองค์ โดยตัวพญามารขี่ช้างอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป ตรงกลางในตำแหน่งที่เหนือกว่าไพร่พลมารขึ้นมาเป็นรูปแม่พระธรณีกำลังบีบมวยผม ด้านซ้ายของพระพุทธรูปเป็นพญามารบนหลังช้างกำลังพ่ายแพ้
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยบนฐานบัวที่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆรูปแบบสำคัญของพระพุทธรูปองค์นี้ที่ช่วยในการกำหนดอายุและสะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตได้ ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏและหยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) สิ่งเหล่านี้สิบต่อมาจากพระพุทธรูปศิลปะเขมรในประเทศไทย ถัดขึ้นไปมีพระเกศาเป็นตุ่มเล็กเปรียบได้กับหนามขนุน พระอุษณีษะทรงครึ่งวงกลม พระรัศมีเปลวไฟ สะท้อนถึงความแตกต่างไปจากศิลปะเขมรในประเทศไทย แต่อาจสัมพันธ์กับศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะการทำพระรัศมีรูปเปลวไฟ พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์มีขนาดใหญ่และแลดูเทอะทะ
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยสุนทรียภาพที่แสดงถึงอายุสมัยว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือระยะแรกสุด ได้แก่ ความสัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทย ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอุษณีษะทรงครึ่งวงกลมและพระรัศมีรูปลูกแก้วหรือดอกบัวตูม ซึ่งแตกต่างไปจากพระพุทธรูปศิลปะเขมรในประเทศไทยทั่วไป ลักษณะนี้แสดงถึงการคลี่คลายหรือห่างไกลออกมาจากศิลปะเขมรในประเทศไทยแล้ว ซึ่งอาจช่วยกำหนดอายุพระพุทธรูปองค์นี้ว่าสร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเล็กน้อย หรือสร้างขึ้นระยะแรกสุดของสมัยอยุธยาตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรเป็นแถบสี่เหลี่ยมใหญ่พาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยอยู่บนฐานบัวเกลี้ยงไม่ประดับลายสุนทรียภาพที่สัมพันธ์กับศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบายนหรือหลังบายน ได้แก่ พระพักตร์เหลี่ยม ไรพระศกเป็นแถบเหนือพระนลาฏ หยักเป็นมุมแหลมบริเวณพระกรรเจียก (ขมับ) พระอุษณีษะทรงกรวยแหลมรองรับด้วยแถวกลีบบัว พระพุทธรูปองค์นี้ครองจีวรห่มเฉียง โดยเส้นชายจีวรที่พาดผ่านพระอุระขวาตวัดเป็นเส้นโค้งอาจสัมพันธ์กับศิลปะอินเดียแบบปาละไม่มากก็น้อย ชายสังฆาฏิหรือชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางอยู่บริเวณพระชงฆ์ แลดูใหญ่และเทอะทะ เป็นลักษณะหนึ่งของพระพุทธรูปยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา
จิตรกรรมตู้พระธรรม
เป็นตู้พระธรรมตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ตอนบนเป็นภาพต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาจากริมตู้ มีดอกและใบเต็มพื้นที่ ตอนล่างเขียนลายกระหนกเปลว ครุฑคาบ นาคคาบ ออกเถาหัวนาค เคล้าภาพสัตว์ นก กระรอก แมลง และสัตว์ป่านานาชนิดรวมทั้งสัตว์หิมพานต์ภาพตอนบนและตอนล่างแม้จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่มิได้ลดทอนความงดงามและกลมกลืนลงไป ความอ่อนช้อยของลายกระหนกกับความแข็งกระด้างของลำต้นและกิ่งไม้ ซึ่งมีดอกและใบแผ่ขยายอยู่เกือบเต็มพื้นที่ แต่ก็ปรากฏภาพสัตว์ต่างๆ แทรกอยู่อย่างกลมกลืน ด้วยท่าทางที่เป็นธรรมชาติดูมีชีวิตชีวา เป็นความงามประการหนึ่งที่สอดคล้องกับความอ่อนช้อยของลายกระหนกเปลว แสดงให้เห็นถึงความคิดอิสระของศิลปินในสมัยนั้นที่สามารถใช้จินตนาการของตนสร้างงานขึ้นโดยไม่กระทบกระเทือนถึงระเบียบแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย สัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดพระโสณี (สะโพก) เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงจรดพระโสณีและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวตรง ประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติทั้ง 2 ข้างจึงเชื่อมติดกับพระโสณี (สะโพก) และยังใช้จุดรับน้ำหนัก 5 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านางอยู่ตรงกลาง ชายผ้าภูษาพันรอบพระโสณี (สะโพก) อยู่ทางขวา และตะบองอยู่ทางซ้าย
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุอยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานหน้ากระดาน สวมมงกุฎทรงกระบอกหรือกิรีฏมกุฏเกลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดของพระวิษณุรุ่นแรกๆ ในดินแดนไทย ทั้งสัมพันธ์กับพระวิษณุในศิลปะอินเดียแบบปัลลวะพระองค์มี 4 พระกร พระกรขวาหน้าทอดลงจรดผ้าภูษาคาดพระโสณี เชื่อว่าเดิมทีเชื่อว่าเคยถือสัญลักษณ์ก้อนดินไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันชำรุดไปแล้ว พระกรซ้ายหน้าทอดลงและถือตะบองไว้ในพระหัตถ์ แต่ปัจจุบันตะบองชำรุดไปแล้วเหลือแต่เพียงส่วนปลายที่ติดกับฐานหน้ากระดานและโคนที่ติดกับพระหัตถ์ พระกรขวาหลังและพระกรซ้ายหลังหักหายไปหมดแล้ว เมื่อเทียบกับประติมากรรมพระวิษณุอื่นๆ เชื่อว่าทั้ง 2 ข้างยกขึ้น ข้างขวาถือจักร ข้างซ้ายถือสังข์ การถือสิ่งของทั้ง 4 ชนิดในตำแหน่งพระหัตถ์ข้างต้นนี้เป็นแบบแผนของศิลปะอินเดียแบบปัลลวะ พระวรกายช่วงบนเปล่าเปลือย ช่วงล่างสวมผ้านุ่งยาวหรือที่เรียกว่า “โธตี” มีผ้าภูษาคาดพระโสณี (สะโพก) เป็นแนวเฉียงประติมากรผู้สลักพระวิษณุองค์นี้คงมีกังวลว่าจะชำรุดแตกหักได้ง่าย พระกรปกติข้างหนึ่งจึงยึดติดกับชายผ้าคาดพระโสณี และอีกข้างหนึ่งจึงยึดติดกับตะบองซึ่งเชื่อมต่อกับพระโสณีและฐานอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้แถบหน้านางที่พาดผ่านตรงกลางผ้านุ่งแทนที่จะมีส่วนปลายสิ้นสุดเพียงตำแหน่งชายผ้านุ่ง แต่กลับตั้งใจให้ยาวจรดฐาน ทำให้พระวิษณุองค์นี้มีจุดรับน้ำหนัก 4 จุด ได้แก่ พระบาท 2 ข้าง แถบหน้านาง และตะบอง