ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 24 รายการ, 3 หน้า
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นอาคารแบบสมมาตร (Symmetrical) 3 ชั้น รูปตัวยู (U) ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิก (Neoclassic Art) ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่ของการได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคลาสสิกของกรีกหรือโรมันโบราณ เหนือชั้น 3 ส่วนหน้าของอาคารแนวเดียวกับหลังคามีการประดับยอดโดมเพื่อเสริมความโดดเด่นในการมองเห็นระยะไกล

ตึกแถวถนนราชดำเนินกลาง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนราชดำเนินกลาง

อาคารบนถนนราชดำเนินกลางนี้มีลักษณะที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตมาประกอบกัน วางอาคารยาวตามแนวของถนน อาคารเป็นทรงตึกสูง 3 ชั้นครึ่ง แบ่งอาคารออกเป็นช่วงๆ บริเวณมุมก่อมุขโค้งครึ่งวงกลม มีทางเข้าอยู่ตรงกลาง มีแนวครีบคอนกรีตทางตั้งระหว่างหน้าต่างและกันสาดบริเวณทางเข้า ส่วนหน้าต่างอื่นๆมีกันสาดคอนกรีตเสริมเหล็กด้านบนและปูนปั้นด้านล่าง ลวดลายตกแต่งทางสถาปัตยกรรมมีการลดทอดจนเหลือเพียงเค้าโครงเส้นรอบนอก ผนังด้านนอกฉาบปูนไม่เรียบและเซาะร่องเลียนแบบการเรียงหิน หลังคาตัดเป็นดาดฟ้าบริเวณส่วนโค้งบริเวณมุมหรือปลายอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตรงกลางเป็นหลังคาจั่วโค้งโครงไม้มุงกระเบื้องโดยมีการยกขอบสูงเพื่อบังและทำเป็นกันสาดไม่ให้เห็นจากภายนอก

อาคารยาวมีหน้าจั่วสามเหลี่ยม ปราสาทเกาะแกร์
เกาะแกร์
สถาปัตยกรรมอาคารยาวมีหน้าจั่วสามเหลี่ยม ปราสาทเกาะแกร์

อาคารยาวๆของปราสาทเกาะแกร์ สร้างด้วยหินทั้งหลังแต่คงเคยมีหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าประกอบด้วยหน้าจั่วสามเหลี่ยมซึ่งเลียนแบบมาจากอาคารเครื่องไม้ ที่น่าสนใจก็คือ ที่ปลายหน้าจั่วมีลายตกแต่งเป็นรูปขมวดม้วน ซึ่งอาจกลายมาจากงวงของมกรก็ได้ หน้าจั่วเช่นนี้จะปรากฏอีกกับปราสาทในศิลปะบันทายสรีและบาปวนบางหลัง เช่นปราสาทบันทายสรี ปราสาทพระวิหาร เป็นต้น อนึ่ง น่าสังเกต “รู” ที่หน้าบันซึ่งเคยเป็นเต้ารับแปของเครื่องไม้ซึ่งได้หายไปหมดสิ้นแล้ว

อาคารยาวที่ปราสาทแปรรูป
อังกอร์
สถาปัตยกรรมอาคารยาวที่ปราสาทแปรรูป

ปราสาทแปรรูป เป็นครั้งแรกที่เริ่มปรากฏ “อาคารยาวๆ” โดยรอบซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับระเบียงคดในระยะต่อมา อาคารยาวๆเหล่านี้คงใช้เป็นที่เก็บของหรือเป็นที่พัก อนึ่ง น่าสังเกตว่าอาคารยาวๆเหล่านี้ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันจนกลายเป็นระเบียงคด การเชื่อต่อกันนั้นจะปรากฏเป็นครั้งแรกที่ปราสาทตาแก้ว

เรือนธาตุของอาคารประธาน: จันทิเซวู
กลาเตน
สถาปัตยกรรมเรือนธาตุของอาคารประธาน: จันทิเซวู

จันทิหลังประธานของจันทิเซวูมีแผนผังกากบาทเช่นเดียวกับจันทิกะลาสันและจันทิปรัมบะนัน กล่าวคือ มีห้องครรภคฤหะตรงกลางและล้อมรอบไปด้วยมุขสี่ทิศ รวมกันเป็นห้าห้อง ซึ่งคงเป็นอิทธิพลจากผังกากบาทของปหรรปุระในศิลปะปาละตอนต้น เรือนธาตุของจันทิประธาน ประกอบด้วยเก็จจำนวนสามเก็จ คือเก็จประธานและเก็จมุม เก็จประธานเป็นซุ้มกาล-มกรขนาดใหญ่ โดยมีหน้ากาลอยู่ด้านบนและมีมกรหันออกอยู่ด้านล่าง ทั้งหมดเป็นกรอบครอบซุ้มประตูรูปกูฑุ ส่วนเก็จมุมขนาบปรากฏ “ซุ้มจระนำและเสา” ซึ่งเป็นระเบียบเดียวกับซุ้มพระโพธิสัตว์ที่เก็จมุมของจันทิเมนดุต จันทิปะวนและจันทิกะลาสัน อย่างไรก็ตาม ซุ้มจระนำที่นี่กลับบรรจุแถบลวดลายพวงอุบะจนเต็ม

อาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมอาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน

ที่ลานด้านหน้าจันทิปะนะตะรันนั้น ปรากฏอาคารซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นอาคารที่มีเทวดาถือนาคพันอยู่โดยรอบ เทวดาทรงกิรีฏมกุฎ แต่งกายตามแบบชวาตะวันออกคือประดับไปด้วยอุบะห้อยขนาดเล็กจำนวนมาก มือหนึ่งถือระฆังซึ่งใช้ในพิธีกรรมส่วนอีกมือหนึ่งถือถือลำตัวนาค อาคารหลังนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใช้ทำอะไร บางท่านเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรจึงอาจเป็นไปได้ที่เป็นอาคารที่ใช้ในการเสกน้ำมนต์

อาคารทรงเมรุที่ปุระอุลุนดานู
บราตัน
สถาปัตยกรรมอาคารทรงเมรุที่ปุระอุลุนดานู

ทะเลสาบบราตัน เป็นที่ตั้งของปุระอุลุนดานูซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ราชวงศ์เม็งวีใน พ.ศ.2167 เทวาลัยหลังนี้ถือว่าเป็นเทวาลัยที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในศิลปะบาหลี เนื่องจากเป็นอาคารทรงเมรุที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆกลางทะเลสาบ

อาคารทรงเมรุที่ปุระตะมันอะยุง
เม็งวี
สถาปัตยกรรมอาคารทรงเมรุที่ปุระตะมันอะยุง

เทวาลัยแห่งนี้ มีชื่อเสียงในเรื่องการการจัดวางอาคารทรงเมรุให้เรียงกันในแถวเดียว โดยความสูงของยอดเมรุมีลักษณะลดหลั่นกัน ทำให้เกิดภูมิสถาปัตยกรรมที่งดงามยิ่ง อนึ่ง อาคารทรงเมรุเหล่านี้สร้างขั้นเพื่ออุทิศให้กับเทพเจ้าประจำภูเขาในเกาะบาหลีหลายลูก เช่น เขาอากุง เขาบาตูเกา และเขาบาตูร์ เป็นต้น อนึ่ง อาคารทรงเมรุซึ่งมีหลังคาซ้อนชั้น นอกจากจะมีความหมายโดยตรงอันหมายถึงปราสาทหรืออาคารฐานันดรสูงตามคติแบบอินเดียแล้ว ก็ยังมีความหมายโดยนัยจากชื่อที่เรียกที่สามารถเปรียบเทียบได้กับภูเขาพระสุเมรุ การใช้เมรุลดหลั่นกันที่ปุระตะมันอะยุง จึงแสดงสัญลักษณ์ของภูเขาที่มีการลดหลั่นทางความสูงอย่างชัดเจน