ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 42 รายการ, 6 หน้า
ชื่อหลัก	พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมชื่อหลัก พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทจตุรมุขโถงจำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มุขด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นมุขสั้นหลังคาลดสองชั้น ด้านหน้าและด้านใต้หลังคาลดสี่ชั้น เครื่องยอดทรงปราสาทประดับด้วยครุฑยุดนาคที่มุมทั้ง 4 หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเสารับย่อมุมไม้สิบสอง มีชานประกอบกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ด้านตะวันตกมีอัฒจันทร์ลงสู่สระ คานล่างก่อเสาคอนกรีตรับพื้นองค์พระที่นั่งทรงสามเหลี่ยม

มัสยิดต้นสน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมมัสยิดต้นสน

มัสยิดต้นสนมีอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้อง มีลูกกรงโปร่งอยู่ตลอดแนวหลังคาและกันสาดยื่นออกมา ผนังอาคารเป็นสีน้ำตาลมีการตกแต่งผนังด้านนอกด้วยลายปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและเรขาคณิต กรอบประตูและหน้าต่างมีลักษณะคล้ายเกือกม้า ตรงกลางมีมุขยื่นออกมามีโดมทรงกระบอกอยู่ด้านบน ฐานโดมมีซี่คาดโดยรอบ ด้านในโดมทำเป็นโครงสร้างแบบรวงผึ้ง ภายในเป็นสถานที่ทำละหมาด มีมิร์หรอบเป็นชุดเดียวกับกำแพงกิบลัต ตัวมิร์หรอบทำจากหินอ่อนมีการเจาะช่องโค้งตกแต่งด้วยงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาและข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน มีมิมบัรตั้งอยู่ด้านข้าง เพดานมีโคมไฟหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือโคมไฟพระราชทานในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้มัสยิดต้นสน

ปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา
สุโขทัย
ประติมากรรมปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา

งานปูนปั้นประดับผนังวิหารด้านใต้ของวัดนางพญากำลังชำรุดหลุดล่วงลงตามกาลเวลา เดิมทีคงมีงานปูนปั้นประดับทั้งด้าน แต่ปัจจุบันเหลือชัดเจนเพียงแค่ผนังระหว่างช่วงเสากลางเท่านั้น ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลง ทำช่องแสงหรือช่องลมไว้ตรงกลาง ตกแต่งผนังด้วยปูนปั้นเลียนแบบฝาไม้ลูกฟัก ภายในลูกฟักและช่องแสงประดับด้วยงานปูนปั้น ออกแบบเป็นลวดลายประเภทเครือเถาหรือพรรณพฤกษา ซึ่งประกอบด้วยก้าน ใบ และดอก พันเกี่ยวกันเต็มพื้นที่ผนัง

เจดีย์วัดนางพญา
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดนางพญา

เจดีย์ประธานวัดนางพญาตั้งอยู่ทางด้านหลังวิหาร ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบ องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญไล่จากด้านล่างไปด้านบน คือ ชุดฐานเขียงต่อด้วยฐานบัว มาลัยเถาซ้อนกัน 3 ชั้น มีมุขอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะมุขทิศตะวันออกเท่านั้นที่มีบันไดทางขึ้นและสามารถเข้าไปยังห้องคูหาภายในได้ ถัดขึ้นเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด

ตึกรับรองราชทูต
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมตึกรับรองราชทูต

อาคารหลังนี้ใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ผนังด้านสกัดทั้งสองด้านยังเห็นแนวผนังสูง ตรงกลางผนังสกัดทำช่องประตูใหญ่ขนาบข้างด้วยช่องแสง ถัดไปด้านบนมีช่องแสงอีก 2 ชั้น ชั้นที่สองเป็นช่องแสงขนาดเล็ก 3 ช่อง ชั้นบนสุดเป็นช่องแสง 1 ช่อง ทุกช่องมีรูปทรงแบบโค้งแหลม หรือ Pointed Arch ผนังแปรชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นได้ว่าเป็นช่องประตูและหน้าต่างตลอดแนว อาคารนี้มีสระน้ำล้อมด้วย

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท

พระที่นั่งองค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังเจาะช่องประตูและหน้าต่างทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ โดยรูปทรงของช่องเหล่านี้เป็นแบบโค้งแหลมหรือ Pointed Arch หลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนนี้สันนิษฐานว่าเป็นทรงจั่ว โครงทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องซึ่งได้พังทลายไปหมดแล้ว ส่วนที่สองคือพื้นที่ด้านหลัง เดิมทีส่วนนี้เคยมี 2 ชั้น โดยพื้นชั้นที่สองทำจากไม้จึงสูญสลายผุพังไปหมด เหลือให้เห็นเพียงแนวเสาอิฐรับโครงสร้างและแท่นฐานใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกลางของผนังด้านตะวันออกชั้นสองมีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ส่วนด้านข้างของผนังตะวันออกเป็นช่องประตู มีบันไดทอดลงไปสู่ห้องโถงส่วนแรก หลังคาของส่วนนี้คงเป็นยอดมหาปราสาท

พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมพระนารายณ์ราชนิเวศน์

พระนารายณ์ราชนิเวศน์มีพื้นที่ทั้งสิ้นราว 42 ไร่เศษ แผนผังรูปสี่เหลียมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ตัวเมือง กำแพงก่ออิฐถือปูน ส่วนบนมีใบเสมารายรอบตลอดแนว มีป้อมที่กลางด้านและมุมกำแพงภายในพระราชวังแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน เขตพระราชฐานชั้นนอกยังคงปรากฏอาคารต่างๆ จำนวนหนึ่ง เช่น อ่างเก็บน้ำ หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตึกรับรองราชทูต ตึกพระเจ้าเหา โรงช้างเขตพระราชฐานชั้นกลาง มีอาคารสำคัญคือ พระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งดุสิตสวรรคัญญมหาปราสาท หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทิม เขตพระราชฐานชั้นใน มีอาคารสำคัญคือ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกพระประเทียบ

ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี

ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรีตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเหนือและใต้เคยมีปรางค์องค์เล็กๆ ขนาบข้างอยู่ ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นตรีมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ยังคงเห็นการประดับตกชั้นซ้อนแต่ละชั้นด้วยกลีบขนุน