ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ชื่อหลัก พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

คำสำคัญ : พระราชวังบางปะอิน, พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์

ชื่อหลักพระราชวังบางปะอิน
ชื่ออื่นพระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบ้านเลน
อำเภอบางปะอิน
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.232339
Long : 100.578673
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 670328.53
N : 1573999.11
ตำแหน่งงานศิลปะกลางสระน้ำ เขตพระราชฐานชั้นกลาง

ประวัติการสร้าง

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นเป็นที่ประทับของพระเจ้าปราสาททองและพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ ณ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระที่นั่งในสมัยพระเจ้าปราสาททองและพระราชทานนามว่า พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2415 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2419

กระบวนการสร้าง/ผลิต

อาคารเครื่องไม้หลังคามุงกระเบื้อง ปิดทองประดับกระจก

ประวัติการอนุรักษ์

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพย์อาสน์นี้เคยต้องอสุนีบาต 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2444 เวลาบ่าย 4 โมงเย็นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอสุนีบาตต้องยอดพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ทำให้ยอดพระที่นั่งหักลงถึงลูกแก้วชั้นบนประมาณ 4 ศอก และเกิดเพลิงไหม้ลามตามคอสองชั้นล่างและเพดานด้านใน ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้จัดให้มีการซ่อมแซมองค์พระที่นั่งให้ดีดังเดิม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมโดยการเปลี่ยนพื้นและเสาแบบเฟโรคอนกรีต เดิมคานล่างก่อเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ต่อมาเปลี่ยนเป็นทรงสามเหลี่ยม
ขนาด-
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นพระที่นั่งทรงปราสาทจตุรมุขโถงจำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มุขด้านทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นมุขสั้นหลังคาลดสองชั้น ด้านหน้าและด้านใต้หลังคาลดสี่ชั้น เครื่องยอดทรงปราสาทประดับด้วยครุฑยุดนาคที่มุมทั้ง 4 หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราอาร์มหรือตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเสารับย่อมุมไม้สิบสอง มีชานประกอบกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ด้านตะวันตกมีอัฒจันทร์ลงสู่สระ คานล่างก่อเสาคอนกรีตรับพื้นองค์พระที่นั่งทรงสามเหลี่ยม

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นนามเดิมของพระที่นั่งที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นในพระราชวังบางปะอินโดยใช้ชื่อเดิมครั้งรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง แต่มีรูปแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งรูปแบบเป็นพระที่นั่งโถงแบบไทยประเพณี

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นที่สำราญพระอิริยาบถและได้เคยใช้เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดีเมื่อปี พ.ศ. 2447 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่าพระองค์จริงในฉลองพระองค์เต็มยศจอมพลทหารบกและให้เชิญมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์จวบจนถึงปัจจุบัน
ข้อสังเกตอื่นๆ

-

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องศิลปะในราชสำนัก
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง

2. พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2017-07-28
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล
บรรณานุกรม

กัญญาภัค ลักษณียนาวิน และคณะ, หม่อมหลวง. พระราชวังบางปะอิน. กรุงเทพฯ: พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต สำนักพระราชวัง, 2546.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. พระราชวังบางปะอิน. กรุงเทพฯ: ศิริมิตรการพิมพ์, 2523.

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. พระราชวังบางปะอิน. กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2537.

วนุช รัศมี. พระราชวังบางปะอิน ประกอบด้วยประวัติความเป็นมา ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ความงามทางด้านศิลปกรรม จิตรกรรม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ทิพย์วิสุทธิ์, 2534.