ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระนารายณ์ราชนิเวศน์

คำสำคัญ : พระนารายณ์ราชนิเวศน์, พระนารายณ์มหาราช

ชื่อหลักพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าหิน
อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.799766
Long : 100.61001
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 673268.12
N : 1636801.47
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพระราชฐาน

ประวัติการสร้าง

คำให้การชาวกรุงเก่าได้ให้ข้อมูลไว้ว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ได้ 10 ปี จึงโปรดให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี ตรงกับ พ.ศ. 2209 สันนิษฐานกันว่าพระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นเพราะกรุงศรีอยุธยาใกล้กับปากน้ำเจ้าพระยาเกินไป หากเกิดข้อพิพาทกับชาติตะวันตกก็อาจทำให้เสียทีได้ง่าย เพราะเมื่อ พ.ศ.2207 ได้เกิดข้อพิพาทกับฮอลันดาจนนำเรือมาปิดปากอ่าว บังคับให้กรุงศรีอยุธยาทำสนธิสัญญาเสียเปรียบทางการค้า

พระราชวังแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์เกือบทั้งตลอดปี พระองค์สวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในพระราชวังแห่งนี้ ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตได้เกิดการยึดอำนาจโดยกลุ่มพระเพทราชา พระองค์เกรงว่าภัยจะมาถึงข้าราชบริพารจึงถวายพระราชวังให้เป็นวิสุงคามสีมาแด่สงฆ์ ให้ข้าราชบริพารอุปสมบทภายในพระราชวัง

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตพระราชวังแห่งนี้จึงถูกทิ้งร้างลง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ผาติกรรมคืนโดยซื้อที่ดินถวายแด่สงฆ์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของพระราชวัง และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ อีก 3 วัด ได้แก่ วัดชุมพลนิกายาราม วัดเสนาสนาราม และวัดกรวิศราราม พระองค์ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังขึ้นใหม่และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2552 – 2553 โดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรณาไท จำกัด (มหาชน) ในโครงการบูรณะนี้มีขอบเขตในการดำเนินการบูรณะกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตกด้านนอก และซุ้มประตูหมายเลข 1 และ 2

ต่อมาได้มีการบูรณะอีกครั้งต่อเนื่องโดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรณาไท จำกัด (มหาชน) โดยทำการบูรณะกำแพงต่อจากโครงการก่อนหน้า มีขอบเขตคือกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตก ด้านใน ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ กำแพงกั้นเขตรวมถึงซุ้มประตูและป้อมประจำทิศ รวมถึงมีการดำเนินงานทางโบราณคดีควบคู่กัน

การดำเนินงานทางโบราณคดีเป็นการขุดตรวจเพื่อดำเนินงานบูรณะในส่วนของกำแพงพระราชวังนั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ การขุดตรวจฐานกำแพงพระราชวังและซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ฐานป้อมกำแพงทั้ง 6 ป้อม และตรวจรากฐานกำแพงและสิ่งก่อสร้างร่วมจำนวน 6 หลุม
ลักษณะทางศิลปกรรม

พระนารายณ์ราชนิเวศน์มีพื้นที่ทั้งสิ้นราว 42 ไร่เศษ แผนผังรูปสี่เหลียมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ตัวเมือง กำแพงก่ออิฐถือปูน ส่วนบนมีใบเสมารายรอบตลอดแนว มีป้อมที่กลางด้านและมุมกำแพง

ภายในพระราชวังแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน

เขตพระราชฐานชั้นนอกยังคงปรากฏอาคารต่างๆ จำนวนหนึ่ง เช่น อ่างเก็บน้ำ หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง ตึกรับรองราชทูต ตึกพระเจ้าเหา โรงช้าง

เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีอาคารสำคัญคือ พระที่นั่งจันทรพิศาล พระที่นั่งดุสิตสวรรคัญญมหาปราสาท หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทิม

เขตพระราชฐานชั้นใน มีอาคารสำคัญคือ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตึกพระประเทียบ
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างขึ้น ณ เมืองลพบุรี จึงเป็นสถานที่ที่ใช้ศึกษางานศิลปกรรมในสมัยของพระองค์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบแผนทางสถาปัตยกรรม ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าสถาปัตยกรรมในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ทำให้ทราบได้ว่าในระยะเวลานั้นอิทธิพลจากตะวันตกหรือเปอร์เซียได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างยิ่ง

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 23
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-22
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

รายงานการดำเนินงานบูรณะ (ระยะที่ 1) พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี. ลพบุรี: สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร, 2552.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

ศิลปากร, กรม. พระนารายณ์ราชนิเวศน์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.