ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ตึกรับรองราชทูต

คำสำคัญ : พระนารายณ์ราชนิเวศน์, ตึกรับราชทูต

ชื่อหลักพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลท่าหิน
อำเภอเมือง
จังหวัดลพบุรี
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.799568
Long : 100.611352
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 673412.71
N : 1636780.61
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพระราชฐานชั้นนอก

ประวัติการสร้าง

ตึกรับรองราชทูตคงสร้างขึ้นพร้อมๆกันกับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งคำให้การชาวกรุงเก่าให้ข้อมูลว่าหลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว 10 ปี จึงโปรดให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรี ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2209

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ได้รับการบูรณะหลายครั้ง ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2552 – 2553 โดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรณาไท จำกัด (มหาชน) ในโครงการบูรณะนี้มีขอบเขตในการดำเนินการบูรณะกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตกด้านนอก และซุ้มประตูหมายเลข 1 และ 2

ต่อมาได้มีการบูรณะอีกครั้งต่อเนื่องโดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรณาไท จำกัด (มหาชน) โดยทำการบูรณะกำแพงต่อจากโครงการก่อนหน้า มีขอบเขตคือกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันตก ด้านใน ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ กำแพงกั้นเขตรวมถึงซุ้มประตูและป้อมประจำทิศ รวมถึงมีการดำเนินงานทางโบราณคดีควบคู่กัน

การดำเนินงานทางโบราณคดีเป็นการขุดตรวจเพื่อดำเนินงานบูรณะในส่วนของกำแพงพระราชวังนั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือ การขุดตรวจฐานกำแพงพระราชวังและซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ฐานป้อมกำแพงทั้ง 6 ป้อม และตรวจรากฐานกำแพงและสิ่งก่อสร้างร่วมจำนวน 6 หลุม
ลักษณะทางศิลปกรรม

อาคารหลังนี้ใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ผนังด้านสกัดทั้งสองด้านยังเห็นแนวผนังสูง ตรงกลางผนังสกัดทำช่องประตูใหญ่ขนาบข้างด้วยช่องแสง ถัดไปด้านบนมีช่องแสงอีก 2 ชั้น ชั้นที่สองเป็นช่องแสงขนาดเล็ก 3 ช่อง ชั้นบนสุดเป็นช่องแสง 1 ช่อง ทุกช่องมีรูปทรงแบบโค้งแหลม หรือ Pointed Arch ผนังแปรชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นได้ว่าเป็นช่องประตูและหน้าต่างตลอดแนว อาคารนี้มีสระน้ำล้อมด้วย

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

อาคารหลังนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะตะวันตกหรือเปอร์เซียที่เข้ามามีบทบาทในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องประตูหน้าต่างทรงโค้งแหลม หรือ Pointed Arch และการก่อช่องประตูหน้าต่างโดยใช้อิฐวางตามแนวตั้ง

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา, อยุธยาตอนปลาย
อายุพุทธศตวรรษที่ 23
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-07-22
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

รายงานการดำเนินงานบูรณะ (ระยะที่ 1) พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี. ลพบุรี: สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร, 2552.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

ศิลปากร, กรม. พระนารายณ์ราชนิเวศน์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531.

สันต์ ท. โกมลบุตร. จดหมายเหตุการณ์เดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชาร์ด. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2519.