ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 19 รายการ, 3 หน้า
พระสัมพุทธพรรณี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น

หมู่พระมหามณเฑียร
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมหมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียรเป็นอาคารทรงไทยประเพณีล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในหมู่อาคารประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 2.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 3.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานพระที่นั่งทุกองค์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับส้มและเหลืองกรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ที่หน้าบันประดับรูปเทวดาถือพระขรรค์ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบรรพแถลง ภายในพระที่นั่งแต่ละองค์เป็นห้องโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีทางเชื่อมระหว่างกัน มีเสาในประธานทรงสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักภายในพระที่นั่งแต่ละองค์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งที่เป็นภาพปรัมปราคติที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในราชสำนัก และภาพลวดลายประดับต่างๆ

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีแผนผังเป็นอาคารทรงจัตุรมุขโถง ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ด้านนอกฉาบผนังเรียบทาสีขาว หลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจตุรมุขซ้อนชั้น ประดับเครื่องลำยองโดยปลายกรอบหน้าบันมีองค์ประกอบที่มีลักษณะเด่น เรียกว่านาคเบือน หลังคาพระที่นั่งมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวขอบสีส้ม ส่วนบนของเครื่องหลังคาประดับเรือนยอดแบบพระมหาปราสาท มุขด้านเหนือมีมุขเด็จยื่นมาทางด้านหน้าซึ่งประดิษฐานบุษบก มุขด้านใต้ภายในพระที่นั่งเจาะผนังเป็นพระที่นั่งบุษบกซึ่งสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 มุขทิศตะวันตกสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง มีทางเชื่อมไปยังศาลาเปลื้องเครื่องที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกมุขทิศตะวันออกมีทางเชื่อมไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ซุ้มพระทวารและซุ้มบัญชรเป็นเรือนยอด ภายในพระที่นั่งตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังลายเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับดาวเพดานไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทมีแผนผังเป็นทรงจัตุรมุข โดยด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นมุขยาว ส่วนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นมุขสั้น หลังคาซ้อนชั้นทำด้วยเครื่องไม้ประดับเครื่องลำยอง ปิดทองประดับกระจกมุงกระเบื้องดาดดีบุก ส่วนกลางชั้นหลังคาประดับเรือนยอดแบบพระมหาปราสาท หน้าบันพระที่นั่งเป็นรูปเทวดาประทับยืนบนแท่น พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ สองข้างมีเทพนม เสารับโครงสร้างพระที่นั่งปิดทองประดับกระจก มีบัวหัวเสาเป็นบัวแวง พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์เป็นพระที่นั่งโถง ไม่มีผนัง ด้านหน้ามีบันไดทอดมายังเกยสำหรับเทียบพระราชยาน

พระที่นั่งไชยชุมพล
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งไชยชุมพล

พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นพระที่นั่งชั้นเดียวบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง องค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูนในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูงเสมอกำแพง มีพระบัญชรที่เปิดถึงพื้นทั้ง 4 ด้าน พระทวารและพระบัญชรเป็นบานเกล็ดไม้ทาสี หลังคาเป็นทรงไทยซ้อน 2 ชั้น ซึ่งอาจเรียกการซ้อนชั้นเช่นนี้ว่าออกมุขลดทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดีบุก เครื่องลำยองปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ที่หน้าบันเป็นรูปกองทัพทั้ง 4 เหล่า ได้แก่ ทัพช้าง ทัพม้า พลรถ และพลเดินเท้า นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นภาพกระบวนแห่ในพระราชพิธีตรียัมปวาย หรือเป็นกระบวนสวนสนามของเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งน่าจะออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการที่ใช้พระที่นั่งไชยชุมพลเป็นสถานที่ประทับทอดพระเนตรการฝึกทหารและกระบวนแห่ในการพระราชพิธีนั้น นอกจากนี้ที่ตอนบนสุดของหน้าบันยังมีภาพเทวดาทรงปลาเป็นพาหนะ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์และพระหัตถ์ขวาถือรวงข้าวปรากฏอยู่ด้วย รูปเทวดานี้สามารถเทียบเคียงได้กับรูปพระมหาชัยหรือพระไพรสพซึ่งเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ การทำรูปเทวดาที่หน้าบันนี้จึงน่าจะมีความหมายว่ามีเทวดารักษาคุ้มครองและอำนวยพรแก่เหล่ากองทัพต่างๆ หรือกระบวนแห่ในพระราชพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองด้วย

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สูง 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 มุข โดยมีบริเวณที่เรียกว่า มุขกระสันเชื่อมต่อถึงกันจากด้านตะวันออกถึงตะวันตก มุขทั้ง 3 รองรับเครื่องหลังคาทรงปราสาทยอดส่วนหลังคาและยอดพระที่นั่งเป็นทรงปราสาทยอดแบบไทยประเพณี แต่ด้วยการประกอบเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก จึงทำให้มีสัดส่วนที่ต่างไปจากพระมหาปราสาทองค์อื่น เช่น ความเอียงลาดของหลังคาที่น้อยลง เครื่องลำยองที่มีขนาดอ้วนและสั้นกว่าปกติ เป็นต้นมุขกลางมีมุขเด็จสำหรับเสด็จออก ที่พระเฉลียงของมุขเด็จประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบบเหมือนจริงทำด้วยโมเสกตัวอาคารตกแต่งด้วยศิลปะตะวันตกยุคเรเนสซองส์ ประดับช่องหน้าต่างวงโค้งที่ชั้นบน ส่วนชั้นที่สองเป็นช่องหน้าต่างในกรอบสี่เหลี่ยม คั่นจังหวะด้วยเสาโครินเธียนติดผนัง รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปจากพระมหาปราสาทแบบไทยประเพณี กล่าวคือ มีการประดับสัญลักษณ์ต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ใช้รูปนารายณ์ทรงครุฑอีกต่อไป แต่ได้ใช้รูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น พระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า รองรับด้วยช้างสามเศียรซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปจักรและตรีล้อมด้วยสายสังวาลนพรัตน์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงพระราชวงศ์จักรี รวมทั้งยังประดับตราประจำแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5

หอศาสตราคม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมหอศาสตราคม

หอศาสตราคมมีรูปแบบเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ส่วนเครื่องบนหรือโครงหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวตัดขอบส้ม หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีตับหลังคาต่อลงมาที่ด้านข้าง หน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ลายก้านขดออกปลายเทพนม กลางหน้าบันประดับรูปเทวดายืนแท่น พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีบันไดทางขึ้นด้านตะวันตก ซึ่งมีเสากลมประดับบัวหัวเสารองรับชายคา พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุลายเคลือบสีเขียว ที่ผนังอาคารเจาะช่องพระทวารและพระบัญชร ยกเว้นด้านทิศตะวันออก พระทวารและพระบัญชรเขียนลายรดน้ำเป็นภาพเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชศิราภรณ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องอัษฎาวุธ และพระแสงราชศัตราต่างๆ

ทับหลัง
เสียมเรียบ
ประติมากรรมทับหลัง

ทับหลังในศิลปะบาปวน มีการทำท่อนพวงมาลัยที่สืบต่อมาจากสมัยก่อนหน้า ส่วนกลางท่อนพวงมาลัยกดลงไปอยู่ด้านล่าง ปรากฏหน้ากาลที่มีมือจับท่อนพวงมาลัยที่ ปลายทั้งสองข้างของท่อนพวงมาลัยม้วนออก เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตกลง ระหว่างช่องใบไม้ตกลงเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการทำเสี้ยวของท่อนพวงมาลัย ที่แต่เดิมเป็นรูปสัตว์ขบมาเป็นพวงอุบะ ซึ่งแต่เดิมนักวิชาการชาฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นศิลปะคลัง แต่ต่อมาพบว่าทับหลังในลักษณะดังกล่าวนี้ สร้างขึ้นเดียวกันกับทับหลังแบบศิลปะบาปวน จึงจัดรูปแบบทับหลังที่มีรูปแบบดังกล่าวนี้อยู่ในศิลปะแบบบาปวนด้วย