ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 41 ถึง 47 จาก 47 รายการ, 6 หน้า
วิหารพระสิงห์
เชียงใหม่
จิตรกรรมวิหารพระสิงห์

ภายในวิหารลายคำมีงานจิตรกรรมที่น่าสนใจของล้านนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่จิตรกรรมลายคำซึ่งอยู่เบื้องหลังพระประธาน จิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสุวรรณหงส์ที่ผนังด้านทิศใต้และจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสังข์ทองที่ผนังด้านทิศเหนือซึ่งทั้ง 2 เรื่องมีที่มาจากปัญญาสชาดกสำหรับลายคำเบื้องหลังพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระประธานนั้นเป็นภาพเขียนด้วยทองคำเปลวบนพื้นสีแดง เขียนเป็นภาพกู่หรือปราสาทซึ่งเป็นอาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นอันเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่นิยมใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ต่างจากภาคกลางที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี ลวดลายประดับอื่นๆ ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะจีน ได้แก่ ลายเมฆ ลายมุกไฟ และลายมังกร โดยบางแห่งใช้เทคนิคการปิดทองบนกระดาษปรุลาย

เทวดาปูนปั้น
เชียงใหม่
ประติมากรรมเทวดาปูนปั้น

การสร้างประติมากรรมรูปเทวดาที่รอบผนังวิหารใช้เทคนิคการก่อแนวอิฐหรือศิลาแลงขนาดไม่ใหญ่นักให้ยื่นล้ำออกมาจากผนังแล้วพอกปูนเพื่อให้ยึดเกาะกับผนัง จึงเกิดเป็นประติมากรรมนูนสูง รูปเทวดาประทับนั่งอยู่บริเวณผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนเทวดาประทับยืนอยู่บริเวณผนังเพิ่มมุม ประติมากรรมทั้งหมดแบ่งเป็น 2 แถวตามแนวยาวของอาคาร โดยมีเสาปูนปั้นแบ่งคั่นจังหวะ เทวดาแต่ละองค์มีพระพักตร์รูปไข่ แย้มพระโอษฐ์ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก สวมเครื่องประดับ ได้แก่ กรัณฑมงกุฎซึ่งมีประภามณฑลล้อมรอบ พาหุรัด กรองศอ ธำมรงค์ อุทรพันธะ นุ่งผ้ายาวกรอมข้อเท้าชักชายผ้าแผ่ออกมาที่ด้านหน้า และมีชายผ้าพลิ้วไหวผูกเป็นโบว์ที่ข้างลำตัวซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทวดาเหล่านั้นกำลังเหาะท่ามกลางอากาศ รูปแบบการแต่งกายสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปเทวดาในศิลปะลังกา ใกล้กันมีลวดลายปูนปั้นประดับ เช่น ลายมุกไฟ ลายดอกไม้ร่วง เช่น ดอกจำปา และดอกโบตั๋น

เจดีย์วัดป่าสัก
เชียงราย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดป่าสัก

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดป่าสัก ได้แก่ ส่วนฐานซึ่งประกอบด้วยฐานเขียงและฐานบัว ที่ท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม ชั้นบนประดับด้วยช่องแปดเหลี่ยมโดยรอบ คล้ายกับส่วนฐานของสถาปัตยกรรมสมัยทวารวดี ส่วนเรือนธาตุชั้นล่างเป็นช่อจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 3 ซุ้ม มีซุ้มสลับซุ้มจระนำรูปเทวดา ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนี้จึงมีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัย ถัดขึ้นมาเป็นชุดเขียงรองรับเรือนธาตุชั้นที่สอง ซึ่งมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปด้านละ 1 องค์ ประดับลวดลายปูนปั้นที่ซุ้มจระนำซึ่งสัมพันธ์กับศิลปะพุกามอย่างที่เรียกว่าซุ้มเคล็ก ส่วนยอดเป็นส่วนของเจดีย์ทรงระฆังที่ไม่มีบัลลังก์ และมีเจดีย์ขนาดเล็กหรือสถูปิกะประดับที่มุมทั้ง 4 องค์เจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจีน

ธาตุดำ
เวียงจันทน์
สถาปัตยกรรมธาตุดำ

เจดีย์ขนาดใหญ่นี้คงเคยเป็นประธานของวัดใดวัดหนึ่งซึ่งไม่หลงเหลือในปัจจุบัน เจดีย์ประกอบไปด้วยบัวถลาแปดเปลี่ยมซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา ถัดขึ้นไปได้แก่บัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยมซึ่งแสดงความเป็นล้านช้างอย่างแท้จริง

ธาตุหลวง
เวียงจันทน์
สถาปัตยกรรมธาตุหลวง

เป็นอูบมูงหรือเนินขนาดใหญ่ในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเนินดังกล่าวนี้อาจมีมาก่อน ต่อมามีการสร้างธาตุขึ้นด้านบนอูบมูงดังกล่าว และยังมีการสร้างธาตุขนาดเล็กรายล้อมธาตุองค์องค์ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับบารมีของพระพุทธเจ้ารวมถึงความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อนึ่ง เจดีย์องค์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าเจดีย์โลกจุฬามณี ซึ่งหมายถึงเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าในคราวออกผนวช การตั้งชื่อเจดีย์เช่นนี้ย่อมสื่อว่าเวียงจันทน์อาจเปรียบได้ดั่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกษัตริย์เองก็เทียบได้ว่าทรงเป็นพระอินทร์

มหาธาตุ
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมมหาธาตุ

เจดีย์องค์นี้ประกอบด้วยฐานบัวขนาดใหญ่ด้านล่างซึ่งมีลวดบัวแบบล้านนา คือ เป็น.ฐานบัวสองชั้นที่มีท้องไม้คั่นกลาง แต่กลับไม่เพิ่มมุมใดๆ ฐานดังกล่าวรองรับเรือนธาตุในผังเพิ่มมุม ถัดเป็นปรากฏหลังคาลาด ชั้นซ้อนซึ่งมีเค้าโครงคล้ายบัวถลาในผังแปดเหลี่ยม และองค์ระฆังขนาดเล็ก เค้าโครงของเจดีย์องค์นี้ดูคล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทยอดในศิลปะล้านนาในครึ่ง หลังพุทธศตวรรษที่ 21 อย่างมาก เช่น เจดีย์วัดโลกโมฬี เชียงใหม่ ซึ่งสร้างเพื่อบรรจุพระอัฐิของโดยพระเมืองเกศเกล้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของเจดีย์องค์นี้แตกต่างพอสมควรไปจากเจดีย์ล้านนา ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจแสดงให้เห็นว่าเจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในระยะหลังด้วย

ธาตุวัดอาไพ
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมธาตุวัดอาไพ

เจดีย์องค์นี้ได้รับอิทธิพลเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนาอย่างมาก ทั้งฐานบัวที่อยู่ในผัง สี่เหลี่ยมเพิ่มมุมและมีท้องไม้กว้าง ชุดฐานรองรับองค์ระฆังในผังกลมที่ปรับเปลี่ยนมาจากบัวถลาในศิลปะล้านนา ละองค์ระฆังกลมขนาดเล็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้คงไม่ได้สร้างขึ้นร่วมสมัยราชวงศ์มังราย แต่คงสร้างขึ้นในภายหลัง คือราวพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเจดีย์มีขนาดเล็กและมีลวดบัวที่ปรับเปลี่ยนไปจากศิลปะล้านนามาก