ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทตาเมือน
รูปแบบแผนผังของปราสาทตาเมือน เป็นลักษณะของโบราณสถานที่เรียกว่า “ธรรมศาลา หรือ ที่พักคนเดินทาง” ซึ่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 โปรดให้สร้างขึ้นตามเส้นทางที่สำคัญทั่วราชอาณาจักร ธรรมศาลานี้มีลักษณะเป็นปราสาทหลังเดียว ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าของปราสาททำเป็นห้องยาวสร้างด้วยศิลาแลง มีประตูเชื่อมต่อกับองค์ปราสาททางด้านทิศตะวันตก ห้องยาวนี้มีผนังด้านหนึ่งเจาะเป็นช่องหน้าต่างเรียงกันเป็นแถว ส่วนผนังอีกด้านหนึ่งทำเป็นหน้าต่างหลอก ด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีประตูทางเข้าออก 1 ประตู มีทับหลังหินทรายสลักภาพพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทกู่สวนแตง
ปราสาทกู่สวนแตง เป็นกลุ่มปราสาท 3 หลัง บนฐานเดียวกัน ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง มีบันไดทางขึ้นบริเวณหน้าปราสาทองค์กลางเพียงแห่งเดียว องค์ปราสาททั้งสามหลังนี้ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก องค์ปราสาทเรียงตัวกันในแนวเหนือใต้ ขนาดของปราสาทองค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทที่ตั้งอยู่ขนาบข้าง ลักษณะแผนผังของปราสาทอยู่ในผังเพิ่มมุม โดยมุมประธานมีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านทิศตะวันออกของปราสาท มีส่วนฐานของอาคาร 2 หลัง มีผังในรูปสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบรรณาลัยสภาพในปัจจุบัน ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว โดยปราสาทที่อยู่ตรงกลางมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ฐานด้านล่างเป็นฐานบัวลูกฟักก่อด้วยศิลาแลง 1 ฐาน ถัดขึ้นไปจึงเป็นองค์ปราสาทที่ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันส่วนของมุขที่ยื่นออกมาพังทลายลงแล้ว เหลือเพียงกรอบประตูที่ทำจากหินทราย ส่วนยอดยังคงมีเค้าโครงให้เห็นถึงชั้นบนสุดแต่ไม่เหลือรายละเอียดให้เห็นมากนักส่วนปราสาทขนาบข้างส่วนยอดได้พังทลายลงมาจนเกือบหมดแล้ว ปราสาทองค์ทิศเหนือมีฐานด้านล่างเป็นฐานเตี้ยๆ ก่อด้วยศิลาแลง 1 ฐาน ถัดขึ้นไปจึงเป็นองค์ปราสาทที่ก่อด้วยอิฐทั้งหลัง มีประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันออก ส่วนชั้นหลังคาพังทลายลงบางส่วน แต่ไม่เหลือรายละเอียดให้ศึกษามากนัก ขณะที่ส่วนยอดของปราสาทองค์ทิศใต้พังทลายลงมากกว่า ในการกำหนดอายุ หากสังเกตุจากแผนผังของปราสาทแต่ละองค์มีแผนผังแบบเพิ่มมุม ซึ่งนิยมในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา แต่จากการพบทับหลัง และการประดับนาคปักบนส่วนยอด จึงกำหนดอายุปราสาทหลังนี้ว่าน่าจะอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 17
สถาปัตยกรรมปราสาทหนองบัวราย
ประกอบด้วยปราสาทประธานมีทางเข้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเข้านั้นทำเป็นมุขยื่นออกมาและมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้ง 2 ด้านๆ ละ 1 ช่อง ยอดปราสาทมี 4 ชั้น มีการเจาะตกแต่งเป็นช่องสี่เหลี่ยม ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งหันหน้าเข้าปราสาทประธาน ด้านหน้าของปราสาทประธานมีทางเดินรูปกากบาททอดยาวมาจนถึงโคปุระ ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วในบริเวณใกล้เคียงพบชิ้นส่วนหน้าบันรูปพระวรกายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ประทับยืนตรง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือนอกแนวกำแพงแก้วมีสระน้ำในผังรูปสี่เหลี่ยม จากลักษณะของแผนผังและรูปแบบการก่อสร้าง เช่น ตัวปราสาทที่มีมุขยื่นและมีช่องหน้าต่างทั้ง 2 ด้าน จะพบโบราณสถานในรูปแบบเดียวกันได้อีกที่กู่สันตรัตน์ จังหวัดมหาสารคาม หรือปราสาทตาเมือนโต๊ด จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น
สถาปัตยกรรมปราสาทบ้านบุ
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก - ตะวันตก มีทางเข้าด้านหน้าซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก ช่วงหลังเป็นตัวปราสาทซึ่งแบ่งเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสส่วนกรอบประตูทางเข้ามีการนำศิลาทรายซึ่งมีลวดลายดอกไม้สี่กลีบแต่เดิมมาใช้ในการก่อสร้าง โดยหันแผ่นศิลาทรายด้านสลักลวดลายเข้าข้างใน คล้ายกับปรางค์หินแดงที่ปราสาทหินพิมาย ในการนำวัสดุในศิลปะเก่ากว่ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้พบบัวยอดปราสาทขนาดใหญ่ในรูปแบบศิลปะร่วมแบบบายน ดังเช่นยอดโคปุระของปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชา ทางเดินเชื่อมด้านทิศใต้มีการเจาะช่องหน้าต่าง 3 ช่อง และตรงมุขอีก 1 ช่อง ด้านเหนือก่อทึบในขณะที่ส่วนบนหักพังจนเกือบหมด และมีหลังคาโค้งเหนือทางเดินที่สร้างระหว่างตัวปราสาทกับมุข