ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธมนุสสนาค
พระพุทธรูปประทับยืนเหนือฐานสิงห์กลีบบัว ที่ฐานมีจารึกพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสร้างพระพุทธรูป แสดงปางประทานอภัย 2 พระหัตถ์ หรือปางห้ามสมุทร ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวไม่เสมอกัน ครองจีวรห่มคลุมพระอังสาทั้ง 2 ข้าง จีวรเป็นริ้วอย่างธรรมชาติ แลเห็นจีวรที่ห่มทับสบงที่เป็นริ้วชั้นใน รูปแบบของการทำจีวรจึงแสดงถึงแนวคิดอย่างสมจริง แต่พุทธลักษณะอื่นๆยังคงไว้ ได้แก่ พระพักตร์ที่สงบ พระเนตรเหลือบต่ำ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะเตี้ยๆรองรับพระรัศมีเปลว เหนือพระเศียรประดับด้วยฉัตรทองฉลุลาย 5 ชั้น
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นประติมากรรมนูนสูงปางนาคปรก พระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิราบแบบหลวม พระหัตถ์ทำปางสมาธิ มีเพียงฐานหน้ากระดานเรียบๆรองรับพระพุทธองค์ไม่ใช่ขนดนาค พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง เรียบ บางแนบเนื้อ มีแนวชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวต่อเนื่องจนถึงข้อพระกรซ้าย แผ่นเบื้องหลังสลักนาค 7 เศียรปกอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ใบหน้าละม้ายคล้ายลิงอันเป็นลักษณะเด่นของนาคแบบทวารวดี สองข้างของพระพุทธรูปสลักรูปเจดีย์ทรงกลมข้างละ 1 องค์
สถาปัตยกรรมวังบางขุนพรหม
ตำหนักใหญ่วังบางขุนพรหมหรือตำหนักทูลกระหม่อมเป็นอาคาร 2 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารมีลักษณะโค้งเข้าโค้งออกและนูนต่อเนื่อง ใช้หลังคาแบบมันสาร์ดมุงกระเบื้องว่าว ปีกด้านทิศใต้มีหอคอยสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ตกแต่งด้วยเสาหลายชนิดทั้งเสากลม เสาเหลี่ยม เสาแบน เสาบิดเป็นเกลียว หัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้น หน้าตามีทั้งหน้าต่างรูปไข่ล้อมด้วยปูนปั้นดอกคัทลียาและหน้าต่างรูปครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยลายเครือไม้และผลไม้ ภายในชั้นล่างมีห้องรับแขก 2 ห้อง ห้องเสวยขนาดใหญ่ 2 ห้อง ห้องสมุด และห้องทรงพระอักษร ชั้นบนเป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องพระ ห้องสีชมพู ห้องสีน้ำเงินตำหนักสมเด็จเป็นอาคาร 3 ชั้นมีทางเชื่อมกับตำหนักใหญ่ เป็นอาคารคฤหาสน์แบบชนบทของเยอรมนี ภายนอกตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างเรียบง่าย ภายในมีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและกระจกสี นอกจากนี้ภายในวังบางขุนพรหมยังมีตำหนักน้อยใหญ่อีกหลายหลัง เช่น ตำหนักหอ ตำหนักเล็ก ตำหนักน้ำ เรือนกล้วยไม้และกระโจมแตร
สถาปัตยกรรมเจดีย์นาคยน
เจดียวิหารสมัยพุกามตอนต้น ซึ่งนิยมเรือนธาตุทรงเตี้ยและมืดทึบ ด้วยเหตุนี้ หน้าต่างโดยรอบของเจดีย์จึงปิดทึบไปด้วยแผง ด้านบนปรากฏหลังคาลาดซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์ในสมัยพุกามตอนต้น อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้มีแนวโน้มไปสู่พุกามตอนปลายแล้ว เนื่องด้วยเคล็กที่ซุ้มมีขนาดค่อนข้างยืดสูง ด้านบนสุดเป็นศิขระแบบที่ปรากฏซุ้มเรียงกันที่เก็จประธาน ศิขระแบบนี้ปรากฏเสมอๆในรัชกาลพระเจ้าจันสิตถา ดังปรากฏเช่นกันที่อานันทเจดีย์
สถาปัตยกรรมปราสาทนาคพัน
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงขุดบารายชยตฑาคะขึ้นที่ด้านหน้าเมืองราชัยศรี (ปราสาทพระขรรค์) กลางสระนั้นโปรดให้สร้างปราสาทนาคพันขึ้นเพื่อตามคติสระอโนดาต อันเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา
สถาปัตยกรรมอาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน
ที่ลานด้านหน้าจันทิปะนะตะรันนั้น ปรากฏอาคารซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นอาคารที่มีเทวดาถือนาคพันอยู่โดยรอบ เทวดาทรงกิรีฏมกุฎ แต่งกายตามแบบชวาตะวันออกคือประดับไปด้วยอุบะห้อยขนาดเล็กจำนวนมาก มือหนึ่งถือระฆังซึ่งใช้ในพิธีกรรมส่วนอีกมือหนึ่งถือถือลำตัวนาค อาคารหลังนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใช้ทำอะไร บางท่านเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรจึงอาจเป็นไปได้ที่เป็นอาคารที่ใช้ในการเสกน้ำมนต์
ประติมากรรมหน้าบันรูปพระวิษณุ
พระวิษณุทรงเป็นเทพเจ้าผู้รักษาจักรวาล ทรงมีสี่พระกร ถือจักร สังข์ คทาและธรณี ทรงกิรีฏมกุฏหรือหมวกทรงกระบอกอันแสดงฐานะความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ อาจเป็นไปได้ที่หน้าบันย่อมแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับพระวิษณุ ซึ่งพบน้อนกว่าปราสาทที่สร้างอุทิศให้กับพระศิวะมาก
ประติมากรรมหน้าบันรูปครุฑและนาค
พระวิษณุทรงเป็นเทพเจ้าผู้รักษาจักรวาล ทรงมีพาหนะที่สำคัญคือครุฑและนาค ซึ่งปรากฏอยู่บนหน้าบันทั้งสองตัว ครุฑเป็นพาหนะของพระวิษณุในคราวเสด็จไปในที่ต่างๆ ส่วนนาคเป็นบัลลังก์บรรทมของพระองค์บนเกษียรสมุทร