ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 82 รายการ, 11 หน้า
พระบรมธาตุไชยา
สุราษฎร์ธานี
สถาปัตยกรรมพระบรมธาตุไชยา

พระบรมธาตุไชยาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มียอดเป็นองค์ระฆัง ก่ออิฐถือปูน ด้านล่างสุดเป็นฐานไพที มีแผนผังสี่เหลี่ยมประดับด้วยเสาหลอกหรือเสาอิงเป็นระยะ มียกเก็จทางด้านตะวันออก มีบันไดทางขึ้นสู่เรือนธาตุอยู่ทางด้านตะวันออกนี้ ด้านบนของฐานไพทีนอกจากจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเป็นองค์ระฆังแล้ว ยังแวดล้อมด้วยเจดีย์ทรงกลมตั้งบนฐานบัวสี่เหลี่ยม 6 องค์เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์ระฆังอันเป็นส่วนสำคัญที่สุดประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานบัวที่มีแผนผังยกเก็จล้อตามแผนผังของเรือนธาตุ โดยตัวเรือนธาตุมีแผนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมทั้งสี่ เก็จที่กลางด้านทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นมุขยื่นยาว มุขด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องครรภคฤหะ ในขณะที่มุขอีก 3 ด้านทึบตัน เก็จที่มุมทั้งสี่ของเรือนธาตุเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก ส่วนยอดถัดขึ้นไปจากส่วนเรือนธาตุ ประกอบด้วยชั้นซ้อน 2 ชั้น แต่ละชั้นมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบ จากนั้นเป็นบัวคลุ่ม องค์ระฆังแปดเหลี่ยม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลี อันเป็นระเบียบของเจดีย์ทรงกลม

หอชัชวาลเวียงชัย
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมหอชัชวาลเวียงชัย

หอชัชวาลเวียงชัยมีรูปแบบและแผนผังอาคารอย่างตะวันตก โดยสร้างขึ้นเลียนแบบอาคารแบบคลาสสิคในผังกลมซึ่งเป็นที่นิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สร้างเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ในผังกลม มีเสากลม 8 ต้นและผนังวงโค้งแบบอาร์เขต (Arcade) ช่วยรับน้ำหนัก และมีบันไดเวียนที่กลางอาคารไปสู่ชั้นบนที่มีระเบียงล้อมรอบ ราวบันไดทำด้วยเหล็กเส้นกลม ด้านบนสุดเป็นโดมขนาดใหญ่ กรุด้วยกระจกใสเรียงซ้อนกันในกรอบเหล็กเส้น เหนือยอดโดมเป็นซุ้มขนาดเล็กก่ออิฐฉาบปูนวางคานรูปวงแหวนและมีการคำยันยึดกับผนังห้องกลมด้วยเหล็กเส้นแบนในแนวทแยง 4 ทิศ เป็นที่สำหรับแขวนกระโจมไฟ

จันทิภีมะ
โวโนโซโบ
สถาปัตยกรรมจันทิภีมะ

จันทิหลังนี้ ถือเป็นจันทิแบบศิขระที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียเหนือเพียงแห่งเดียวในศิลปะชวา โดยที่ยอดประกอบด้วยเก็จจำนวน 3 เก็จ แต่ละเก็จประดับด้วยกูฑุซึ่งมีหน้าบุคคลโผล่ ซึ่งคงเป็นการจำลองลวดลายควากษะในศิลปะอินเดียเหนือ ส่วนที่เก็จมุมประดับอามลกะซึ่งเกี่ยวข้องกับศิขระอินเดียเหนือเช่นกัน เส้นรอบนอกศิขระของจันทิภีมะเป็นเส้นตรง อันแตกต่างไปจากยอดของจันทิอรชุนและจันทิปุนตเทพที่เป็นขั้นบันได ภายหลังจากศิลปะชวาภาคกลางตอนต้น จันทิแบบศิขรินเยเหนือจะสูญหายไปจากความนิยมในศิลปะชวา คงเหลือแต่ยอดวิมานอินเดียใต้เท่านั้นที่จะสืบทอดไปถึงระยะหลัง

จันทิเมนดุต
ไม่ปรากฏ
สถาปัตยกรรมจันทิเมนดุต

จันทิตั้งอยู่บนฐานประทักษิณขนาดใหญ่ เรือนธาตุแบ่งออกเป็นสามเก็จ โดยเก็จประธานประดับภาพพระโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่บนดอกบัว ส่วนเก็จมุมประดับพระโพธิสัตว์อันยิ่งใหญ่แปดองค์ในพุทธศาสนามหายาน หรืออัษฏมหาโพธิสัตว์ ซึ่งทำให้จันทิเมนดุตกลายเป็น “มณฑล” หรือแผนภูมิจักรวาลในพุทธศาสนามหายาน ชั้นหลังคาประดับด้วยเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานอินเดียใต้ แต่ประดับไปด้วยสถูปิกะตามแบบชวาภาคกลางแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้คงได้อิทธิพลมาจากพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

จันทิปะวน
โวโนโซโบ
สถาปัตยกรรมจันทิปะวน

จันทิหลังนี้ ถือเป็นจันทิขนาดเล็กที่งดงามที่สุดในศิลปะชวาภาคกลางตอนกลาง จันทิตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเช่นเดียวกับจันทิเมนดุต แบ่งออกเป็นสามเก็จ เก็จประธานมีภาพต้นกัลปพฤกษ์สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ส่งเก็จมุมเป็นภาพพระโพธิสัตว์ยืน ชั้นหลังคาประดับด้วยสถูปิกะตามแบบชาภาคกลางตอนกลางที่ได้เปลี่ยนมานิยมสถูปิกะแทนตามความคิดทางพุทธศาสนา ราวบันไดของจันทิปะวนยังประดับด้วยลวดลายต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งสื่อถึงการอวยพรให้ผู้ศรัทธาได้รับความอุดมสมบูร์ณเช่นเดียวกัน

จันทิเบดังดาลาม
อลอร์สตาร์
สถาปัตยกรรมจันทิเบดังดาลาม

สถาปัตยกรรมของจันทิแห่งนี้ ประกอบด้วยครรภคฤหะและมณฑป ครรภคฤหะมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่มีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว ผนังก่ออิฐ โดยรอบมีร่องรอยของทางประทักษิณที่มีหลุมเสาสำหรับเสียบหลังคาเครื่องไม้ ด้านหน้ามีมณฑปโปร่งซึ่งมีหลุมเสาสำหรับเสียบเสารองรับหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องเช่นเดียวกัน จันทิดังกล่าวแม้จะไม่มีความซับซ้อนนักเมื่อเทียบกับศิลปะชวา แต่ก็สามารถเป็นหลักฐานถึงการเข้าของสถาปัตยกรรมอินเดียและชวาในคาบสมุทรมลายูสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี

จันทิปุนตเทพ
โวโนโซโบ
สถาปัตยกรรมจันทิปุนตเทพ

จันทิมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก กล่าวคือ เป็นจันทิในผังครรภคฤหะ มีมุขสั้นๆยื่นออกมาทางด้านหน้า เรือนธาตุประดับด้วยเสาติดผนังสี่ต้นแบ่งผนังออกเป็นสามส่วน (เก็จประธานและเก็จมุม) ชั้นหลังคามีเรือนธาตุจำลอง (ตละ) ซ้อนชั้นขึ้นไป ที่มุมประดับด้วยอาคารจำลอง (หาระ) การที่เส้นรอนอกของยอดมีลักษณะเป็นขั้นบันไดนั้นคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก ลักษณะพิเศษเพิ่มเติมของจันทิหลังนี้ก็คือการปรากฏลวดลายตกแต่งซุ้มจระนำที่เก็จประธานเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยม และการตกแต่งเก็จมุมด้วยเสาและซุ้มซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏมาก่อนกับจันทิอรชุน

บุโรพุทโธ
ไม่ปรากฏ
สถาปัตยกรรมบุโรพุทโธ

สถูปประกอบไปด้วยฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนห้าชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยทางประทักษิณที่มีภาพเล่าเรื่องทางพุทธศาสนามหายานประดับ แต่ละด้านยังปรากฏซุ้มจระนำประดิษฐานพระธยานิพุทธทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านปรากฏพระธยานิพุทธในมุทราต่างๆกันออกไป เช่น พระอักโษภยะแสดงปางมารวิชัยทางด้านทิศตะวันออก พระรัตนสัมภวะแสดงปางประทานพรทางด้านทิศใต้เป็นต้น ด้านบน มีฐานเขียงกลมประดิษฐานสถูปโปร่งบรรจุพระไวโรจนะซึ่งแสดงปางปฐมเทศนาและสถูปทึบตรงกลางซึ่งมหายถึงพระอาทิพุทธ