ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์
พระที่นั่งตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางถ้ำที่มีลักษะโปร่งแสงแดดส่องถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นพระที่นั่งโถงแบบจัตุรมุข โดยมีมุขทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวกว่ามุขด้านตะวันตกและตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้ซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระหา หางหงส์
สถาปัตยกรรมวัดพระแก้วน้อย
สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป
เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท
โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ
มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบเก๋งจีน พระที่นั่งก่อด้วยอิฐฉาบปูน หลังคาทรงอ่อนโค้งมุงกระเบื้องลอนเคลือบและประดับสัญลักษณ์มงคลแบบจีน กลางสันหลังคาประดับรูปมังกรดั้นเมฆ ท้องพระโรงล่างปูกระเบื้องเคลือบจากจีน มีลายรูปสัตว์ ต้นไม้และบุคคลจากเทพปกรณัมจีน คานด้านบนท้องพระโรงติดป้ายอักษรไทยเลียนแบบอักษรจีนว่า เทียนเม่งเต้ย ประดับโดยรอบอาคารด้วยไม้แกะสลักเป็นเรื่องราวจากวรรณคดีเรื่องสามก๊กท้องพระโรงชั้นล่างมีบันไดหินอ่อนสู่พระราชบัลลังก์แบบจีน กลางบันไดมีรูปหยิน-หยาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นสู่ท้องพระโรงบนเป็นที่ประดิษฐานพระราชบัลลังก์แบบจีนอีกองค์หนึ่ง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐานพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น และพระป้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยประดิษฐานอยู่ในพระวิมานเขียนลายแบบจีน ด้านเหนือของพระที่นั่งเป็นห้องบรรทมของรัชกาลที่ 5 พระแท่นบรรทมสลักลายหงส์และมังกร อีกห้องเป็นที่บรรทมของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถมีพระแท่นเป็นไม้สลักลายเคลือบสีทองและพระแท่นประดับมุก ด้านใต้เป็นห้องทรงพระอักษรของรัชกาลที่ 5 การตกแต่งภายในพระที่นั่งเป็นแบบจีนทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยมใช้เครื่องเรือนที่นิยมในราชวงศ์ชิง
สถาปัตยกรรมหอวิฑูรทัศนา
หอวิฑูรทัศนามีลักษณะเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น ในผัง 12เหลี่ยม ชั้นล่างของตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยช่วงเสาที่รองรับคานโค้ง ชั้นบนกั้นเป็นระเบียงด้วยกระเบื้องลูกถ้วย หลังคามุงกระเบื้อง ส่วนหอคอยที่สูงขึ้นไปมีการตกแต่งระเบียงด้วยไม้ฉลุลายแบบขนมปังขิง ยอดหอคอยมีลักษณะเป็นรูปโดมทรงครึ่งวงกลม ตัวอาคารทางสีแดงสลับเหลือง ภายในมีบันไดเวียนจากชั้นล่างสู่ชั้นบน