ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถาปัตยกรรมหอศาสตราคม
หอศาสตราคมมีรูปแบบเป็นอาคารทรงไทยประเพณี ส่วนเครื่องบนหรือโครงหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวตัดขอบส้ม หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีตับหลังคาต่อลงมาที่ด้านข้าง หน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ลายก้านขดออกปลายเทพนม กลางหน้าบันประดับรูปเทวดายืนแท่น พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล กรอบหน้าบันประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้งและหางหงส์ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน มีบันไดทางขึ้นด้านตะวันตก ซึ่งมีเสากลมประดับบัวหัวเสารองรับชายคา พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุลายเคลือบสีเขียว ที่ผนังอาคารเจาะช่องพระทวารและพระบัญชร ยกเว้นด้านทิศตะวันออก พระทวารและพระบัญชรเขียนลายรดน้ำเป็นภาพเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชศิราภรณ์ เครื่องราชูปโภค เครื่องอัษฎาวุธ และพระแสงราชศัตราต่างๆ

สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
รูปแบบพระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค เลียนแบบการสร้างโบสถ์ของศาสนาคริสต์ แผนผังพระอุโบสถเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจั่วแหลมสูง โดยเฉพาะด้านท้ายพระอุโบสถมีหลังคาเป็นยอดแหลม ช่องประตูหน้าต่างเป็นวงโค้งยอดแหลม ประดับด้วยกระจกสี ที่สำคัญคือด้านทิศตะวันออกเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถประดับกระจกสีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สั่งทำจากประเทศฝรั่งเศส ภายในพระอุโบสถตกแต่งแบบยุโรปโดยใช้โทนสีชมพูซึ่งเป็นสีประจำวันอังคารซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 5

สถาปัตยกรรมปรางค์วัดพุทไธสวรรย์
ปรางค์ประธานวัดพุทไธสวรรย์ตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเหนือและใต้เคยมีมณฑปขนาบข้างอยู่ ปรางค์องค์นี้ก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุน ยอดสุดประดับด้วยนภศูลสำริด

สถาปัตยกรรมตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์
ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นล่างมีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านสกัด ส่วนผนังแปรเป็นช่องหน้าต่างซึ่งก่อด้านบนแบบทรงโค้งแหลม ชั้นบนมีบันไดทางขึ้นอยู่ทางผนังแปร มีช่องหน้าต่างเรียงรายทุกด้าน หลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง

สถาปัตยกรรมปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ
ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีอิฐก่อเสริมเป็นบางช่วง ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบขนุน รูปแบบโดยรวมมีความสูงเพรียวกว่าปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นที่สร้างขึ้นก่อนหน้า แต่เตี้ยกว่าปรางค์สมัยอยุธยาตอนปลาย

สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์
เจดีย์ประธานวัดมเหยงคณ์เป็นเจดีย์ทรงกลมที่ตั้งอยู่บนลานประทักษิณ ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน และประดับลวดลายปูนปั้นฐานประทักษิณอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบด้วยประติมากรรมช้างครึ่งตัวยืนอยู่ภายในซุ้ม กึ่งกลางด้านทั้งสี่มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณ กลางลานประทักษิณมีเจดีย์ทรงกลม 1 องค์ ส่วนล่างของเจดีย์มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ ถัดขึ้นไปได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเป็นส่วนใหญ่ ร่องรอยเดิมยังเห็นได้ว่ามีมาลัยเถา ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังและบัลลังก์ ส่วนยอดที่เป็นของเดิมหักพังลงบนลานประทักษิณ ที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานบูรณปฏิสังขรณ์สมัยปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ
เจดีย์ทรงกลมตั้งเรียงกัน 3 องค์บนฐานไพที มีมณฑปคั่นกลางระหว่างเจดีย์แต่ละองค์ เจดีย์แต่ละองค์ผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้วโดยกรมศิลปากร องค์ประกอบตั้งแต่ฐานจนยอดประกอบด้วยชุดฐานเขียง มาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ แกนปล้องไฉนซึ่งมีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลี และเม็ดน้ำค้าง ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดพระศรีสรรเพชญ ได้แก่ ย่านกลางของเจดีย์มีมุขยื่นออกไปทั้งสี่ทิศ สันหลังคามุขประดับด้วยเจดีย์ยอด

สถาปัตยกรรมวิหารพระศรีสรรเพชญ
วิหารพระศรีสรรเพชญตั้งอยู่ด้านหน้าของเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาและเครื่องบนต่างๆพังทลายลงจนไม่เหลือร่องรอย แนวผนังเหลือเพียงบางส่วนเผยให้เห็นถึงการใช้ช่องแสงแทนการใช้หน้าต่าง ด้านนอกของผนังด้านข้างมีเสาพาไลกลมรองรับหลังคา ภายในมีฐานชุกชีประดิษฐานพระศรีสรรเพชญและพระพุทธรูปอื่นๆ มีแนวเสากลมรองรับหลังคาอยู่ภายในด้วย