ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 401 ถึง 408 จาก 880 รายการ, 110 หน้า
ปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่ใต้ หลังที่ 1
กัมปง ธม
สถาปัตยกรรมปราสาทสมโบร์ไพรกุก หมู่ใต้ หลังที่ 1

ปราสาทสมัยก่อนเมืองพระนคร มักสร้างด้วยอิฐและแตกต่างด้วยการสลักอิฐเสมอ โดยไม่มีการเพิ่มมุม แต่มักประดับด้วยเสาติดผนังที่มุมและที่ด้าน ปราสาทสมโบร์ไพรกุกหลังนี้ มีการตกแต่งด้านข้างด้วยเสาติดผนังจำนวน 6 ต้น แบ่งพื้นที่เรือนธาตุออกเป็น 5 เก็จ โดยเก็จประธานประดับซุ้มประตูทรงปราสาท ส่วนเก็จข้างประดับ “วิมานลอย” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของสมัยก่อนเมืองพระนคร ยอด้ายบนมีลักษณะเป็นเรือนธาตุซ้อนชั้นตามอย่างวิมาน อินเดียใต้ โดยแต่ละชั้นมีการประดับปราสาทจำลองซึ่งมีบันไดเป็นระยะๆ ปราสาทจำลองเช่นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยก่อนเมืองพระนครเช่นกัน

ปราสาทแปดเหลี่ยม : ปราสาทสมโบร์ไพรกุก
กัมปง ธม
สถาปัตยกรรมปราสาทแปดเหลี่ยม : ปราสาทสมโบร์ไพรกุก

ปราสาทสมโบร์ไพรกุก มีปราสาทบางหลังที่มีแผนผังแปดเหลี่ยม ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษที่ปรากฏเฉพาะสมัยก่อนเมืองพระนครเท่านั้น ปราสาทแปดเหลี่ยมเหล่านี้ ไม่มีการเพิ่มมุม แต่ใช้เสาติดผนังขนาบแต่ละมุม และกึ่งกลางปรากฏ “วิมานลอย” ซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของศิลปะก่อนเมืองพระนคร ส่วนยอดของปราสาทแปดเหล่ยมเหล่านี้ มักประดับไปด้วยชุดหลังคาลาดที่ประดับไปด้วยกูฑุ อันเกี่ยวข้องกับศิลปะอินเดียเหนือ แตกต่างอย่างยิ่งไปจากยอดแบบวิมานปราสาทในผังสี่เหลี่ยมซึ่งได้รับความนิยมในระยะร่วมสมัย

พระอารามโรงเจิน
พนมกุเลน
สถาปัตยกรรมพระอารามโรงเจิน

ปราสาทพระอารามโรงเจิน เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เพื่อประดิษฐานพระเทวราช และศิวลึงค์ประจำพระองค์ ปราสาทแห่งนี้ตั้งอยู่บนฐานเป็นชั้นที่สร้างขึ้นจากศิลาแลง ด้านบนปรากฏฐานศิวลึงค์อยู่ ซึ่งอาจเคยอยู่ในปราสาทที่หักพังไปหมดแล้ว ฐานเป็นชั้นนี้คงเป็นความพยายามในการจำลองเขาไกรลาส ที่ประทับของพระศิวะ และต่อมาจกลายเป็นประเพณีในสมัยเมืองพระนครที่ปราสาทที่ประดิษฐานพระเทวราชและศึวลึงค์ประจำพระองค์กษัตริย์ต้องเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้นเสมอ

ปราสาทดำไรกราบ
พนมกุเลน
สถาปัตยกรรมปราสาทดำไรกราบ

ปราสาทจามสมัยหัวล่าย ประกอบด้วยเสาติดผนังจำนวน 4 ต้นเสมอ กึ่งกลางเสาประดับด้วย “แถบลาย” ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับปราสาทหัวล่ายในเวียดนาม นอกจากนี้ที่บัวหัวเสายังปรากฏเค้าโครงของครุฑแบกซึ่งคล้ายคลึงกับส่วนเดียวกันของปราสาทหัวล่ายด้วย อย่างไรก็ตาม ปราสาทแห่งนี้กลับสลักไม่เสร็จ จึงยังไม่ปรากฏลวดลายใดๆบรรจุอยู่ในแถบลายกึ่งกลางเสา

ปราสาทมิเซิน กลุ่ม B
ดุยเซ็น
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน กลุ่ม B

ปราสาทมิเซิน กลุ่ม B เป็นตัวอย่างของการจัดวางกลุ่มปราสาทในศิลปะจาม ซึ่งมักวางตัวอย่างไม่เป็นระเบียบ ภายในกลุ่มโบราณสถานประกอบไปด้วยปราสาทประธาน ปราสาทบริวาร บรรณาลัย โคปุระ กำแพงล้อมรอบและมณฑปซึ่งตั้งอยู่ภายนอกกำแพง

ปราสาทมิเซิน B5
ดุยเซ็น
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน B5

ปราสาทมิเซิน B5 เป็นปราสาทมิเซินกลุ่ม B เพียงหลังเดียวที่ยังมียอดครบสมบูรณ์ เป็นปราสาทที่มีเสาติดผนังจำนวน 5 ต้น โดยสามารถมองเห็นได้เพียงสี่ต้น เนื่องจากเสาต้นกลางถูกซุ้มบดบัง ซึ่งถือเป็นลักษณะที่ปรากฏเสมอๆในศิลปะมิเซิน A1 ซุ้มมีลักษณะเป็นซุ้มหน้านาง ซึ่งเป็นซุ้มที่สืบต่อมาจากซุ้มแบบดงเดือง แต่กลับเป็นซุ้มตอนเดียว ไม่ได้ปรากฏปีกนกต่อเนื่องกันลงมาซึ่งแตกต่างไปจากซุ้มดงเดือง ภายในซุ้มมักปรากฏเทวดาถือกระบอง ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของศิลปะมิเซิน A1

ปราสาทมิเซิน C1
ดุยเซ็น
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน C1

ปราสาทมิเซิน C1 เป็นปราสาทประธานของมิเซินกลุ่ม C และเป็นปราสาทประธานเพียงหลังเดียววที่มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีหลังคาเป็นทรงประทุน (เรียกว่าทรงศาลาในศิลปะอินเดียใต้) เนื่องจากปราสาทมีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำให้ด้านยาวมีเสาติดผนังจำนวนถึง 7 ต้น โดยสามารถมองเห็นได้เพียงหกต้นเท่านั้น เนื่องจากเสาต้นกลางถูกซุ้มบดบัง ซึ่งถือเป็นลักษณะที่ปรากฏเสมอๆในศิลปะมิเซิน A1 ซุ้มมีลักษณะเป็นซุ้มหน้านาง ซึ่งเป็นซุ้มที่สืบต่อมาจากซุ้มแบบดงเดือง แต่กลับเป็นซุ้มตอนเดียว ไม่ได้ปรากฏปีกนกต่อเนื่องกันลงมาซึ่งแตกต่างไปจากซุ้มดงเดือง ภายในซุ้มมักปรากฏเทวดาถือกระบอง ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของศิลปะมิเซิน A1

ปราสาทมิเซิน C1
ดุยเซ็น
สถาปัตยกรรมปราสาทมิเซิน C1

ปราสาทมิเซิน C1 เป็นปราสาทประธานของมิเซินกลุ่ม C และเป็นปราสาทประธานเพียงหลังเดียวที่มีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีหลังคาเป็นทรงประทุน (เรียกว่าทรงศาลาในศิลปะอินเดียใต้) ด้านหน้าของปราสาทปรากฏมณฑปซึ่งมียอดเป็นทรงประทุนเช่นเดียวกัน มณฑปมีเสาติดผนังห้าต้น และด้านหน้ามีเกรอบประตูซึ่งสลักจากหิน เสากรอบประตูมีลักษณะเป็นรูปแจกันคว่ำ-หงายสลับกันซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของศิลปะมิเซิน A1