ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมที่ตั้งของปราสาทโพกลวงการาย
ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ ได้แก่ยอดเนินเขา โดยมีการยกกลุ่มอาคารทั้งหมดขึ้นไปไว้ด้านบน ทั้งปราสาทประธาน บรรณาลัย มณฑป โคปุระ ที่ตั้งของปราสาทแห่งนี้ทำให้นึกถึงปราสาทบาญอี๊ดในจังหวัดบิญดิ่น การเลือกตั้งปราสาทอยู่บนยอดเขานั้น ปรากฏความนิยมมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยบิญดิ่น และดูเหมือนว่าในสมัยหลัง ก็ยังคงสืบทอดความนิยมดังกล่าวด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทหลังนี้ มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับปราสาทสมัยบิญดิ่นอตนปลายอยู่ ทั้งรูปแบบเสาติดผนังที่มี 5 ต้น ไม่มีร่องไม่มีลาย รวมถึงซุ้มที่ยังคงเป็นใบหอกแบบบิ่ญดิ่น อย่างไรก็ตาม การที่ปราสาทจำลองที่ชั้นหลังคากลายเป็น “ทรงพุ่ม” นั้นแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยหลังแล้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทจำลองทรงพุ่ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยหลังของจาม พัฒนามาจากปราสาทจำลองทรงถะจีนซึ่งนิยมมาก่อนในศิลปะบิญดิ่นตอนปลาย เช่นปราสาทจำลองของปราสาทแก๋งเตียนในจังหวัดบิญดิ่น ปราสาทจำลองแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุว่า ปราสาทโพกลวงการายควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา
สถาปัตยกรรมบรรณาลัย (?) ของปราสาทโพกลวงการาย
บรรณาลัยของปราสาทโพกลางการาย เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาเป็นทรงประทุน หรือทรงศาลา ในศัพท์สถาปัตยกรรมอินเดีย อนึ่ง บรรณาลัยปรากฏมาแล้วตั้งแต่ปราสาทมิเซิน โดยอยู่ในผังและมีหลังคาทรงนี้เสมอ รวมถึงตั้งอยู่ทางด้านข้างของปราสาทประธานเสมอๆ เนื่องจากบรรณาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มปราสาทซึ่งกำหนดอายุอยู่ในสมัยหลัง ด้วยเหตุนี้ บรรณาลัยดังกล่าวจึงควรมีอายุอยู่ในระยะเดียวกัน ส่วนปราสาทจำลองทรงถะจีนที่มุมนั้นอาจแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยบิญดิ่นตอนปลาย
สถาปัตยกรรมปราสาทโพโรเม
ปราสาทหลังนี้ เป็นปราสาทในระยะสุดท้ายของศิลปะจาม รายละเอียดต่างๆได้ถูกลดทอนจนหมดสิ้น ดังปรากฏเสาติดผนังเพียงสองต้น และมีซุ้มจระนำรูปใบหอก ด้านบนประดับปราสาทจำลองทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทโพกลวงการาย
ประติมากรรมนางปรัชญาปารมิตาจากปราสาทดงเดือง
เป็นประติมากรรมที่แสดงความเป็นพื้นเมืองดงเดืองอย่างมาก กล่าวคือ มีพระเกศาหยิก พระขนงตอเป็นปีกกา พระเนตรโปน พระโอษฐ์หนา พระนาสิกใหญ่ นุ่งผ้าสองชั้น คือผ้าหน้านางผืนในแล้วใช้ผ้าคลุมด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง ผ้านุ่งหน้านางนี้ถือเป็นลักษณะที่นิยมอย่างมากในศิลปะดงเดือง
ประติมากรรมมุขลึงค์ประธานในปราสาทโพกลวงการาย
พระเศียรของพระศิวะที่มุขลึงค์ประธานของปราสาทโพกลวงการาย มีลักษณะสำคัญตามแบบศิลปะในสมัยหลังโดยทั่วไป กล่าวคือ พระพักตร์มีเคราตามอิทธิพลจีน/เวียดนาม และสวมมงกุฎเป็นทรงกระบอกซึ่งถือเป็นมงกุฎหนึ่งในสองแบบที่นิยมในศิลปะสมัยหลัง มงกุฎอีกแบบหนึ่งที่นิยมในระยะนี้ก็คือแบบกระบังหน้า
ประติมากรรมประติมากรรมประธานในปราสาทโพโรเม
ประติมากรรมโพโรเม ถือเป็นตัวอย่างของประติมากรรมในสมัยหลังได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือประทับนั่งเห็นเพียงครึ่งพระองค์ ด้านล่างจมหายไปกับแผ่นหลัง พระหัตถ์จำนวนมากก็เข้าไปติดยึดกับแผนหลังเช่นกัน พระพักตร์มีเคราตามอิทธิพลจีน/เวียดนามส่วนมงกุฎมักเป็นทรงกระบอก