ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทดำไรกราบ
ปราสาทจามสมัยหัวล่าย ประกอบด้วยเสาติดผนังจำนวน 4 ต้นเสมอ กึ่งกลางเสาประดับด้วย “แถบลาย” ขนาดใหญ่เช่นเดียวกับปราสาทหัวล่ายในเวียดนาม นอกจากนี้ที่บัวหัวเสายังปรากฏเค้าโครงของครุฑแบกซึ่งคล้ายคลึงกับส่วนเดียวกันของปราสาทหัวล่ายด้วย อย่างไรก็ตาม ปราสาทแห่งนี้กลับสลักไม่เสร็จ จึงยังไม่ปรากฏลวดลายใดๆบรรจุอยู่ในแถบลายกึ่งกลางเสา
สถาปัตยกรรมปราสาทหัวล่าย
ปราสาทมีเสาติดผนังสี่ต้นตามระบบศิลปะจามระยะต้น กึ่งกลางเสามีแถบลายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสมัยหัวล่าย ที่ฐานปราสาทประดับด้วยปราสาทจำลองซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและศิลปะขอมก่อนเมืองพระนคร ส่วนด้านบนของปราสาทนั้นเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนกันตามระบบวิมานอินเดียใต้
สถาปัตยกรรมซุ้มของปราสาทหัวล่าย
ซุ้มของปราสาทหัวล่าย เป็นซุ้มรูปพิณฝรั่งคว่ำ ครอบคลุมด้วยลายขนมจีนจนเต็ม มีลายขมวดเข้าพร้อมขมวดออก ไม่มีรูปสัตว์ใดๆ แทรกอยู่ในซุ้ม ทั้งหมดนี้แสดง “ความเป็นพื้นเมือง” ของซุ้มในสมัยหัวล่ายที่แตกต่างไปจากกูฑุแบบอินเดียในศิลปะมิเซิน E1 แล้ว
สถาปัตยกรรมเสาติดผนังของปราสาทหัวล่าย
ปราสาทมีเสาติดผนังสี่ต้นตามระบบศิลปะจามระยะต้น กึ่งกลางเสามีแถบลายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสมัยหัวล่าย ซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียที่มีมาก่อน ที่บัวหัวเสาปรากฏครุฑยุดนาคซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเดนสำหรับปราสาทแห่งนี้ ครุฑมีจะงอยปากนกแล้วอันแตกต่างไปจากครุฑหน้าคนแบบอินเดีย
สถาปัตยกรรมปราสาทหลังเหนือของปราสาทหัวล่าย
ปราสาทหลังเหนือของปราสาทหัวล่าย แม้ว่ายังสลักลวดลายประดับเสาไม่เสร็จ แต่ลักษณะที่โดเด่นก็คือปราสาทจำลองซึ่งประดับที่โคนเสาติดผนังแต่ละต้น เนื่องจากปราสาทจำลองเหล่านี้ปรากฏทั้งเรือนธาตุและชั้นหลังคาแบบวิมานอย่างซับซ้อน และถือเป็นปราสาทจำลองที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะจาม จากรูปแบบของปราสาทจำลองซึ่งยังคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ทำให้กำหนดอายุได้ว่าปราสาทหลังนี้อยู่ในระยะแรกของศิลปะจาม
ประติมากรรมเศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระเศียรของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ทรงชฎามงกุฎตามแบบนักบวช มีกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา พระพักตร์มีความเป็นอินเดีย-ชวาสูง คือพระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระโอษฐ์บาง ไม่มีพระมัสสุ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้
ประติมากรรมพระวิษณุทรงครุฑ
พระวิษณุทรงครุฑองค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาปะปนกับศิลปะพื้นเมืองหัวล่าย โดยกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา แต่พระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้เริ่มมีพระโอษฐ์หนา พระเนตรโปนและมีพระมัสสุตามแบบพื้นเมือง ครุฑที่มีจะงอยปากนกและมีปีกเป็นกนกเองก็เป็นลักษณะพื้นเมืองเช่นกัน
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร
พระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้ กล่าวคือทรงกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา นุ่งผ้าโธตียาวที่มีผ้าคาดวงโค้งกว้างตามแบบศิลปะอินเดียใต้-ชวาภาคกลาง อยย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้เริ่มมีพระโอษฐ์หนาและพระเนตรโปนตามแบบพื้นเมืองแล้วยัชโญปวีตในระยะนี้ก็หายไปซึ่งแตกต่างไปจากศิลปะชวา