ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทหลังนี้ มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับปราสาทสมัยบิญดิ่นอตนปลายอยู่ ทั้งรูปแบบเสาติดผนังที่มี 5 ต้น ไม่มีร่องไม่มีลาย รวมถึงซุ้มที่ยังคงเป็นใบหอกแบบบิ่ญดิ่น อย่างไรก็ตาม การที่ปราสาทจำลองที่ชั้นหลังคากลายเป็น “ทรงพุ่ม” นั้นแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยหลังแล้ว
สถาปัตยกรรมปราสาทจำลองของปราสาทโพกลวงการาย
ปราสาทจำลองทรงพุ่ม ถือเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมสมัยหลังของจาม พัฒนามาจากปราสาทจำลองทรงถะจีนซึ่งนิยมมาก่อนในศิลปะบิญดิ่นตอนปลาย เช่นปราสาทจำลองของปราสาทแก๋งเตียนในจังหวัดบิญดิ่น ปราสาทจำลองแบบนี้ทำให้สามารถกำหนดอายุว่า ปราสาทโพกลวงการายควรสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมา
สถาปัตยกรรมบรรณาลัย (?) ของปราสาทโพกลวงการาย
บรรณาลัยของปราสาทโพกลางการาย เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาเป็นทรงประทุน หรือทรงศาลา ในศัพท์สถาปัตยกรรมอินเดีย อนึ่ง บรรณาลัยปรากฏมาแล้วตั้งแต่ปราสาทมิเซิน โดยอยู่ในผังและมีหลังคาทรงนี้เสมอ รวมถึงตั้งอยู่ทางด้านข้างของปราสาทประธานเสมอๆ เนื่องจากบรรณาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ในกลุ่มปราสาทซึ่งกำหนดอายุอยู่ในสมัยหลัง ด้วยเหตุนี้ บรรณาลัยดังกล่าวจึงควรมีอายุอยู่ในระยะเดียวกัน ส่วนปราสาทจำลองทรงถะจีนที่มุมนั้นอาจแสดงถึงการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยบิญดิ่นตอนปลาย
สถาปัตยกรรมปราสาทโพโรเม
ปราสาทหลังนี้ เป็นปราสาทในระยะสุดท้ายของศิลปะจาม รายละเอียดต่างๆได้ถูกลดทอนจนหมดสิ้น ดังปรากฏเสาติดผนังเพียงสองต้น และมีซุ้มจระนำรูปใบหอก ด้านบนประดับปราสาทจำลองทรงพุ่มเช่นเดียวกับปราสาทโพกลวงการาย
ประติมากรรมพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองปะปนกับอิทธิพลจากศิลปะจีนและอินเดีย ประการแรกคือท่านั่งห้อยพระบาทที่ใช้พระหัตถ์ทั้งสองวางอู่บนพระชานุนั้นแสดงถึงอิทธิพลจีน แต่จีวรที่ห่มเฉียงและมีชายจีวรสั้นๆอยู่ที่พระอังสาซ้ายนั้นกลับเป็นลักษณะประจำในศิลปะปาละของอินเดีย อย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้กลับแสดงความเป็นพื้นเมืองอย่างมากมาย เช่น พระโอษฐ์ที่หนา พระขนงต่อเป็นปีกกาและพระเนตรโปน เป็นต้น
ประติมากรรมหน้าบันรูปวิษณุอนันตศายินจากปราสาทมิเซิน E
ซุ้มของปราสาทมิเซินกลุ่ม E นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับกูฑุหรือจันทรศาลาในศิลปะอินเดียอย่างมาก กล่าคือเป็นซุ้มเรียบ วงโค้งเตี้ย ที่ปลาประดับมกรหันออก อย่างไรก็ตาม ศิลปะจามได้เพิ่มลายม้วนเข้าด้วย ทำให้ซุ้มมีทั้งม้วนเข้าและม้วนออกไปพร้อมกัน กึ่งกลางปรากฏภาพเล่าเรื่องตอนวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือพระวิษณุบรรทมกลางเกษียรสมุทรและมีพระพรหมผุดขึ้นมาจากพระนาภี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู
ประติมากรรมเศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระเศียรของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ทรงชฎามงกุฎตามแบบนักบวช มีกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา พระพักตร์มีความเป็นอินเดีย-ชวาสูง คือพระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระโอษฐ์บาง ไม่มีพระมัสสุ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้
ประติมากรรมพระวิษณุทรงครุฑ
พระวิษณุทรงครุฑองค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาปะปนกับศิลปะพื้นเมืองหัวล่าย โดยกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา แต่พระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้เริ่มมีพระโอษฐ์หนา พระเนตรโปนและมีพระมัสสุตามแบบพื้นเมือง ครุฑที่มีจะงอยปากนกและมีปีกเป็นกนกเองก็เป็นลักษณะพื้นเมืองเช่นกัน