ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม
สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ตามชื่อหน้าผาเรียงต่อกันไปคือผาขาม ผาแต้ม ผาหมอนน้อย และผาหมอน ทั้งหมดนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก1. ผาขามแสดงภาพปลาขนาดใหญ่ 4 ตัว ยาวประมาณ 0.35 - 1.00 เมตร เขียนด้วยสีแดงแบบเห็นโครงสร้างภายใน ( x-ray ) นอกจากนั้นมีภาพช้าง 1 ตัว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปลามาก (ประมาณ 13 ซม.) และภาพสัตว์สี่เท้า 1 ตัว2. ผาแต้มภาพเขียนปรากฎมีตลอดแนวหน้าผายาว 180 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 4 - 5 เมตร ภาพที่เขียนลงสีไว้มีมากกว่า 300 รูป ที่ผาแต้มนี้มีภาพที่เกิดจากการฝนเซาะร่องลงไปในเนื้อหินเป็นลายเส้นเรียงแถวตามแนวตรงบ้าง เฉียงบ้าง แนวนอนบ้าง สูงตั้งแต่ 5 - 15 ซม. ส่วนนี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในช่วงยาวประมาณ 80 ซม.เท่านั้น อาจเป็นภาพสัญลักษณ์บางอย่างสำหรับภาพเขียนสีซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่บริเวณนี้ ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง มีสีดำและสีขาวบ้าง แบ่งเป็นภาพคนซึ่งมีขนาดเล็ก พบเพียง 10 ภาพภาพสัตว์ เช่น ช้าง ปลา เต่าหรือตะพาบน้ำ สุนัข วัว ไก่หรือนก เป็นต้น มักแสดงภาพขนาดใหญ่ราวกับเท่าของจริง โดยเฉพาะช้างและปลาที่มีขนาดยาวถึง 4 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร ภาพสัตว์นี้พบประมาณ 30 ภาพ ทั้งภาพคนและสัตว์ มักอยู่ในอาการเคลื่อนไหวภาพวัตถุสิ่งของ อาจเป็นเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า "ตุ้ม" และหน้าไม้ หรือคันธนูซึ่งคนกำลังถือใช้งานอยู่ภาพสัญลักษณ์ เป็นลายเส้นวกเวียนไปมา หรือเป็นเส้นหยัก ลูกคลื่นหรือฟันปลา ซึ่งอาจหมายถึง"น้ำ" หรือกับดักปลา ลายก้างปลา ลายรูปทรงเรขาคณิต ลายเส้นขนานคล้ายทุ่งนา เป็นต้นภาพมือ ซึ่งพบอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 200 มือ มีทั้งมือผู้ใหญ่ และมือเด็ก และมีทั้งสีแดง สีดำ และสีขาว ภาพทุกประเภทเขียนอยู่ร่วมกันเสมอ โดยเฉพาะภาพมือ ปรากฏมีสอดแทรกกับภาพอื่นๆ ทุกภาพภาพเขียนส่วนมากเขียนแบบระบายสีเงาทึบ (silhouette) นอกนั้นเป็นแบบโครงร่างรอบนอก (outline) และแบบกิ่งไม้ (stick man) ส่วนภาพมือมีรูปแบบการทำหลายแบบ มีทั้งแบบพ่น (stencil) แบบทาบ (imprint) และแบบเขียนเส้นโครงรอบนอก (outline)3. ผาหมอนน้อยแสดงภาพคนสูงประมาณ 1.6 เมตร กำลังเหนี่ยวคันธนูเล็งไปยังสัตว์สี่ขาซึ่งอาจเป็นวัวตั้งครรภ์ ลำตัวยาวประมาณ 6.4 เมตร ต่อมาเป็นภาพคนสูงประมาณ 1.2 เมตร กำลังไล่สัตว์สี่ขามีเขาอาจเป็นกวางที่บุกรุกเข้าไปในนาข้าว ซึ่งรอบๆภาพกลุ่มนี้มีภาพมือทั้งซ้ายและขวาประมาณ 20 มือ ทำขึ้นโดยการทาสีบนฝ่ามือแล้วขูดสีบางส่วนที่นิ้วและฝ่ามือออกแล้วจึงทาบมือลงบนผนัง ถัดมาเป็นภาพสัตว์สี่ขา 3 ตัว ท้องป่องคล้ายตั้งครรภ์เช่นกัน กับภาพลายเส้นคล้ายตาข่ายดักสัตว์ นอกจากนี้ก็มีภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกัน และภาพมือที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มแรกอีกประมาณ 15 มือ เรียงกันเป็นแถวยาวกับลายเส้นหยักขึ้นลงวกไปมาด้วย ภาพคนและสัตว์ระบายสีแดงแบบเงาทึบ (silhouette)เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพเขียนสีที่ผาแต้มและผาหมอนน้อยนี้ ภาพทุกประเภทมีความสัมพันธ์เป็นเรื่องราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพคนกับวัวกับภาพมือ ภาพปลากับมือ ภาพ"ตุ้ม"กับมือ และสัญลักษณ์ ภาพทุ่งนากับคนกับกวางกับมือ ภาพคนกำลังล่าวัวหรือกวาง4. ผาหมอนภาพทั้งหมดในส่วนนี้เขียนด้วยสีแดงแบบระบายเงาทึบ (silhouette) ประกอบด้วยภาพคนและสัตว์ กลุ่มแรกมีภาพคนเพียงคนเดียวกับภาพสัตว์สี่ขา 11 ตัว อาจเป็นช้าง วัว สุนัข และหมูหรือแกะหรือแพะเดินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน (ยกเว้นสัตว์ตัวหนึ่งซึ่งอาจเป็นสุนัขที่หันหน้าเข้าหาฝูงสัตว์) กลุ่มที่สองเป็นภาพคนประมาณ 10 คน เขียนแบบระบายเงาทึบกับแบบกิ่งไม้ มีลักษณะค่อนข้างเหมือนจริง แสดงกล้ามเนื้อน่องโป่งพองด้วย ภาพที่น่าสนใจของที่ผาหมอนนี้คือภาพคนนุ่งกระโปรงยาวครึ่งน่อง ยืนท้าวสะเอว มีขนาดใหญ่กว่าภาพคนอื่นๆ ไม่รู้แน่ว่าเป็นหญิงหรือชาย นอกจากนี้มีภาพมือข้างขวาของผู้ใหญ่แบบพ่น (stencil) 2 มือ และแบบทาบ (imprint) อีก 2 มือ และมือเด็กแบบทาบอีก 2 มือด้วย ภาพเขียนสีทั้ง 4 กลุ่มนี้จะเห็นได้ว่ามีภาพมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อาจหมายถึงการร่วมมือร่วมแรงกันทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ร่วมมือกันจับปลา ทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือล่าสัตว์ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้วาดภาพเหล่านั้นว่าอยู่ในสังคมเกษตรกรรม และยังอาจหมายถึงการมีความเชื่อร่วมกันในเรื่องความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
จิตรกรรมถ้ำผาลายภูผายนต์
ภาพสลักต่างๆ นั้นสามารถแยกประเภทได้ดังนี้1. ภาพคน มีทั้งหมด 21 ภาพ มีทั้งภาพคนที่เหมือนจริงและภาพกึ่งเหมือนจริง ภาพเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเหมือน เช่น ภาพเหมือนคนซึ่งเน้นแสดงโครงภายนอก ไม่มีรายละเอียดของอวัยวะ เช่น หู ตา ปาก จมูก นิ้วมือ นิ้วเท้า มีจำนวน 9 ภาพ เป็นภาพเด็ก 2 ภาพ ผู้ใหญ่ 7 ภาพ ส่วนภาพกึ่งเหมือนจริงคือภาพที่บ่งบอกลักษณะว่าเป็นคนโดยสัดส่วน แต่จะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น หัวคนเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือแขน ขา ไม่เน้นให้เห็นกล้ามเนื้อ แต่มีอวัยวะที่สำคัญครบส่วน เช่น หู ตา ปาก จมูก ไม่มีนิ้วมือ นิ้วเท้า ภาพประเภทนี้ มี 12 ภาพ2. ภาพมือ มีเพียงภาพเดียว เป็นภาพมือขวาหงายมือแสดงอุ้งมือ มีนิ้ว 6 นิ้ว3. ภาพสัตว์ มีทั้งหมด 21 ภาพ ภาพปลา 8 ภาพ ภาพนก 4 ภาพ ภาพสุนัข 2 ภาพ กระรอกหรือกระแต 1 ภาพ ภาพควาย 1 ภาพ วัวหรือควาย 4 ภาพ กบหรือเขียด 1 ภาพ4. ภาพลวดลายเรขาคณิต เป็นเส้นตรง เส้นโค้ง หรือทำเป็นลวดลายต่างๆ มีรูปสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม กากบาท หัวลูกศร สามเหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายเส้นเดียว ลายเส้นเรียงแถวกัน ลายเส้นตัดกันไปตัดกันมาจนหารูปทรงที่แน่นอนไม่ได้ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก5. ภาพสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ภาพที่คล้ายไถ เครื่องมือทำนาแสดงเฉพาะส่วนหัวที่เรียกว่า "หัวหมู" หรือ "ผาล" อยู่ตอนปลาย นอกจากนี้ยังมีรูปจอบมีด้ามและรูปพัดสำหรับพัดให้กระแสลมพัดข้าวเมล็ดลีบออก 6.ภาพอาคาร มีลักษณะคล้ายบ้าน 2 ภาพ เป็นทรงบ้านหลังคาสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ภาพหนึ่งมีสุนัขอยู่ข้างในบ้าน อีกภาพหนึ่งเป็นบ้านที่มียอดหลังคาไขว้คล้ายเรือนกาแล หรือเถียงนาในภาคอีสาน และมีภาพคล้ายคนอยู่ในบ้าน
จิตรกรรมภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาจันทน์งาม
ภาพเขียนสีทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2-4 เมตร การศึกษาที่ผ่านมาของกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดแบ่งภาพเขียนสีที่พบเป็น 12 กลุ่มตามตำแหน่งที่พบ โดยรวมแล้วมีภาพทั้งหมด 44 ภาพ เป็นภาพคน 32 ภาพ ภาพสัตว์ 5 ภาพ (สุนัข นกหรือไก่ ตะกวด? เม่น? เสือ?) คันธนูและลูกศร 1 ภาพ และไม่ทราบว่าเป็นภาพชนิดใด 5 ภาพ เทคนิคการเขียนภาพมี 2 แบบ คือ ภาพเงาทึบและลายเส้นโครงร่างภายนอก ภาพคนส่วนใหญ่มีส่วนน่องโต มีผ้านุ่ง ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงจะมีหางนกห้อยมาจากกระเบนเหน็บและพู่ประทับบนหัวกลุ่มที่ 1 เป็นภาพชุดที่เด่นและสำคัญที่สุด อยู่บนผนังหินด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ขนาด 1x2 เมตร เป็นภาพเขียนแบบเงาทึบ ภาพมี 2 แถว (บนและล่าง) ลักษณะเป็นรูปกลุ่มคน 14 คน มีทั้งเพศชายและหญิง วัยเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งภาพสุนัข 1 ตัว โดยมีรายละเอียดคือแถวบน เป็นภาพคน 3 คน คนแรกมีเพียงครึ่งซีก ไม่มีหัว คนที่ 2 ยืนกางแขน มีผ้ากางออกมาจากส่วนเอวทั้ง 2 ข้าง ชายผ้ามีแฉกเป็นริ้วๆ เป็นภาพที่เขียนด้านตรง แต่หันหน้าเอียงไปทางขวา คนที่ 3 เขียนให้เห็นด้านข้าง หันหน้าไปทางตรงกันข้ามกับคนที่ 2 ภาพนี้ไม่เต็มรูป ขาดส่วนคอ ลำตัวบางส่วน และต้นขาแถวล่าง เป็นขบวนภาพคนเดินเรียงเป็นแถว ภาพแรกของแถวล่างอยู่ต่ำจากแถวบนประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นภาพคนยืนถือธนูในท่าทางกำลังยิงธนู โดยลูกธนูถูกยิงออกจากคันธนูแล้ว ภาพนี้เป็นภาพเขียนให้เห็นด้านข้าง มีเส้นผมอยู่บนหัว นุ่งผ้าห้อยหน้าหลัง ชายผ้าด้านนอกมีแฉกเป็นริ้วๆ ขาด้านหลังสลับเลื่อนไป ต่อจากภาพนี้เป็นภาพสุนัข หูตั้ง หางดาบ มีอวัยวะเพศบ่งบอกว่าเป็นตัวผู้ ลักษณะตัวผอมยาว ต่ำจากภาพสุนัขลงมาเล็กน้อยเป็นภาพคนนั่งชันเข่า คนที่ 2 เป็นภาพผู้หญิงมีท้องใหญ่ เปลือยอก มีหางคล้ายหางนก ภาพ 2 คนนี้อยู่ในลักษณะที่กำลังเล่นหรือคุยกัน คนหนึ่งเป็นผู้ชาย คนหนึ่งเป็นผู้หญิง ภาพถัดไปเป็นภาพคนยืนเท้าเอว นุ่งผ้า 2 ชิ้นหน้าหลัง แขนขวายกตั้งศอก เป็นภาพเขียนด้านข้าง ห่างจากภาพนี้ไปประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นภาพคนยืนหลังค่อม บนหัวมีเส้นผม นุ่งผ้า 2 ชิ้นหน้าหลัง ชายผ้าด้านหน้ามีแฉกเป็นริ้วๆ มือขวายื่นออกไปถือสิ่งของคล้ายไม้เท้า ข้างหน้าภาพนี้เป็นภาพคนยืนยกแขนทั้ง 2 ข้าง คล้ายอยู่ในท่ารำ ต้นขาด้านหลังขาดหายไป ภาพถัดไปเป็นภาพผู้หญิง เห็นด้านข้างในท่าร่ายรำ ข้างหน้าภาพผู้หญิงเป็นภาพคนยืนยื่นแขนออกไปข้างหน้า มีผ้าปิดหน้า หลังชายผ้ามีรูปกากบาท ภาพถัดไปเป็นภาพเด็ก 2 คน อยู่ในท่ารำ คนหนึ่งยกแขกนทั้ง 2 ข้างขึ้น อีกคนหนึ่งมือซ้ายเท้าเอว มีขวายกขึ้น นุ่งผ้า 2 ชิ้นปิดหน้าหลัง ภาพถัดไปเป็นภาพสีแดงจางๆกลุ่มที่ 2 อยู่บนผนังหินด้านทิศตะวันออกใกล้กับภาพกลุ่มที่ 1 แต่อยู่คนละผนังหิน มีภาพคนชดเจน 1 ภาพ เป็นภาพคนผมยาวกำลังวิ่งหรือรำ มองเหลียวหลัง จากเข่าลงไปถึงปลายเท้าขาดหายไป ผนังด้านนี้มีรองรอยของภาพเขียนสีอยู่แต่ลบเลือนไปหมด เห็นเพียงสีแดงเป็นแถบๆกลุ่มที่ 3 อยู่บนผนังหินด้านทิศตะวันออก เป็นภาพคนกำลังจับสัตว์เลื้อยคาน ลักษณะคล้ายสัตว์กิ้งก่า แย้ หรือตะกวด ห่างจากภาพคนเล็กน้อยมีลายเส้นคดไปมา 3 เส้นกลุ่มที่ 4 อยู่บนผนังหินด้านทิศตะวันออก เป็นภาพคน 3 คน ไม่มีศีรษะ แสดงท่าทางยืนมีคนนุ่งผ้าคล้ายกระโปรงสั้นเหนือเข่า 2 คนกลุ่มที่ 5 อยู่บนผนังหินด้านทิศตะวันตก ภาพคน 3 คน ยืนขนาบภาพสัตว์คล้ายเม่นหรือหมูป่า ใช้เทคนิคเขียนภาพ 2 แบบ คือ แบบโครงร่างภายนอกและแบบเงาทึบ ภาพสัตว์และคนยืนอยู่หน้าสัตว์เขียนแบบโครงร่างภายนอก ส่วนภาพเขียนแบบคล้ายคล้ายเงาทึบเป็นภาพคนอยู่ในท่าทางกำลังวิ่ง นุ่งผ้าปิดหน้าหลัง 1 ภาพกลุ่มที่ 6 ภาพคน 3 คน ภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในกลุ่มนี้อยู่ตรงกลาง เป็นภาพคนกางแขน นุ่งผ้าปิดหน้าหลัง แต่ส่วนตั้งแต่เข่าลงไปขาดหายไป สันนิษฐานว่าเป็นท่าร่ายรำ อีก 2 คนภาพขาดหายไป โดยหายไปครึ่งตัว ตั้งแต่หัวถึงกลางตัว 1 ภาพ และจากสะโพกลงไป 1 ภาพกลุ่มที่ 7 เป็นภาพสัตว์ภาพเดียว รูปร่างค้ลายสิงโตหรือเสือ ข้างหน้าสัตว์มีสีแดงเป็นจุดๆ รวม 5 จุด เกิดจากสีบางส่วนขาดหายไปกลุ่มที่ 8 รูปคน 2 คน แสดงท่ารำ มีเพียงครึ่งตัวด้านบน ส่วนล่างขาดหายไปกลุ่มที่ 9 รูปคน 1 คน ยืนยกแขนส่วนปลายแขนกับขาขาดหายไป 1 ข้าง ด้านข้างคนมีลายเส้นวาดยาวตามแนวตั้ง อาจจะเป็นภาพคนที่ลบเลือนไป (?)กลุ่มที่ 10 รูปคน 1 คน ไม่มีศีรษะ อยู่ในลักษณะท่าทางคู้ตัวกลุ่มที่ 11 มีรูป 3 รูป อาจเป็นภาพคนทั้ง 3 รูป แต่ภาพลบเลือนขาดไป กลุ่มที่ 12 เป็นภาพคนครึ่งตัว แขนข้างขวากางออกจากลำตัว แขนซ้ายเยียดตรงขนานกับพื้น
จิตรกรรมตู้พระธรรม
ตู้พระธรรมใบนี้ทำขาตู้ด้วยไม้สี่เหลี่ยมธรรมดา ไม่สลักลวดลายใดๆ นิยมเรียกขาตู้แบบนี้ว่าขาหมู จึงนำไปใช้เรียกตู้แบบนี้ว่า ตู้พระธรรมขาหมูฝาตู้มีลายลดน้ำ หรือลายลงรักปิดทอง เขียนภาพภูมิจักรวาลในคติพุทธศาสนา ภาพนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยมีเส้นสินเทาคั่นแบ่งระหว่างกัน เบื้องล่างของเส้นสินเทาแสดงภาพป่าหิมพานต์อันเป็นป่าที่ชมพูทวีป บานทางซ้ายมือปรากฏภาพสระอโนดาต เป็นสระน้ำรูปวงกลมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำ 4 สาย แม่น้ำแต่ละสายไหลออกมาจากปรากของสัตว์แต่ละชนิด ได้แก่ ช้าง ม้า วัว สิงห์ ส่วนบานทางขวามือเป็นภาพสระน้ำอื่นๆ ในป่าหิมพานต์ แสดงเป็นรูปสระน้ำวงกลมขนาดเล็กที่มีดอกไม้หรือดอกบัวอยู่ภายใน องค์ประกอบส่วนอื่นมีต้นไม้ โขดหิน และสัตว์ต่างๆ ด้านบนของเส้นสินเทาแสดงภาพเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง บนยอดเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่อยู่ของพระอินทร์ มีปราสาทซึ่งคงหมายถึงปราสาทไพชยนต์อยู่ตรงกลาง ช้างอเราวัณอยู่ด้านล่างราวกับว่าแบกปราสาทนี้ไว้ จุฬามณีเจดีย์อยู่ทางขวามือ ถัดลงมาทั้ง 2 ข้างจากเขาพระสุเมรุเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ หรือเขาวงแหวนเจ็ดชั้นที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ แต่ละลูกมีความสูงลดหลั่นกันลงไป แสดงอออกในรูปทรงแท่งเสาจำนวนด้านละ 7 แท่ง แสดงให้เห็นว่าช่างได้วาดภาพเขาสัตตบริภัณฑ์ด้วยมุมมองผ่าแบ่งครึ่ง เหนือเขาแต่ละลูกมีวิมานของเทวดา แวดล้อมเขาพระสุเมรุและเขาวงแหวน 7 ชั้น ยังปรากฏภาพวิมานเทวดาและเหล่าเทวดาในท่าเหาะจำนวนมาก มีวงกลม 2 วงที่แทนพระอาทิตย์และพระจันทร์ด้วย
จิตรกรรมตู้พระธรรม
เป็นตู้พระธรรมตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ตอนบนเป็นภาพต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาจากริมตู้ มีดอกและใบเต็มพื้นที่ ตอนล่างเขียนลายกระหนกเปลว ครุฑคาบ นาคคาบ ออกเถาหัวนาค เคล้าภาพสัตว์ นก กระรอก แมลง และสัตว์ป่านานาชนิดรวมทั้งสัตว์หิมพานต์ภาพตอนบนและตอนล่างแม้จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่มิได้ลดทอนความงดงามและกลมกลืนลงไป ความอ่อนช้อยของลายกระหนกกับความแข็งกระด้างของลำต้นและกิ่งไม้ ซึ่งมีดอกและใบแผ่ขยายอยู่เกือบเต็มพื้นที่ แต่ก็ปรากฏภาพสัตว์ต่างๆ แทรกอยู่อย่างกลมกลืน ด้วยท่าทางที่เป็นธรรมชาติดูมีชีวิตชีวา เป็นความงามประการหนึ่งที่สอดคล้องกับความอ่อนช้อยของลายกระหนกเปลว แสดงให้เห็นถึงความคิดอิสระของศิลปินในสมัยนั้นที่สามารถใช้จินตนาการของตนสร้างงานขึ้นโดยไม่กระทบกระเทือนถึงระเบียบแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องชาดก 550 ชาติ
ผนังรอบพระอุโบสถแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาดเท่าๆกัน เขียนลายกระหนกเป็นกรอบ ภายในช่องเขียนภาพชาดกแตกต่างกัน และมีข้อความกำกับใต้ภาพแต่ละเรื่อง ชาดกแต่ละเรื่องนำเสนอผ่านฉากเหตุการณ์สำคัญในแต่ละตอน ภาพบุคคลสำคัญเช่นพระโพธิสัตว์ เทวดา กษัตริย์ปิดทองที่เครื่องทรง มีกิริยาอย่างนาฏลักษณ์ ภาพอาคารมีที่เป็นรูปแบบอาคารอย่างไทยประเพณี อาคารแบบจีน บ้านเรือนผู้คนที่มีรูปแบบตามสมัยนิยม
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องศรีธนญชัย
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องศรีธนญชัยอยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่างของพระวิหารวัดปทุมวนาราม เทคนิคการเขียนภาพและรูปแบบเป็นเช่นเดียวกับจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งอื่นๆ กล่าวคือ เริ่มใช้หลักทัศนียวิทยาแสดงระยะและมิติของภาพ คำนึงถึงความสมจริง โดยมีภาพสถาปัตยกรรมตามสมัยนิยมในขณะนั้น อย่างภาพปราสาทราชวังที่จำลองอาคารบางแห่งจากพระบรมมหาราชวัง ภาพวัดซึ่งจำลองภาพวัดปทุมวนาราม ภาพผู้คนแต่งกายอย่างสมจริง เช่น ทหารที่ใส่เครื่องแบบที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ภาพชาวบ้านที่แต่งกายอย่างไทย ลาว ภาพบรรยากาศและทิวทัศน์ต่างๆแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น ผืนน้ำที่มีเรือใบ และท้องฟ้าที่มีก้อนเมฆ
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องวิปัสสนาญาณ
จิตรกรรมเรื่องวิปัสสนาญาณเขียนอยู่ที่ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง ด้านซ้ายของพระพุทธรูปประธาน ฉากหลังเป็นภาพแนวป่าไม้โขดหินสีโทนน้ำตาล ซึ่งมีภาพบุคคล ได้แก่ ภิกษุ ชาวบ้าน อยู่ในอิริยาบถต่างๆ แต่งกายตามสมัยนิยม โดยผู้ชายนุ่งผ้าโจง มีผ้าคาดเอว ผู้หญิงนุ่งผ้า ห่มสไบ สีผิวออกขาวนวลโดยไล่สีอ่อนแก่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การเขียนภาพแม้จะเริ่มมีการแรเงาบ้างแล้ว แต่ยังขาดมิติตามหลักทัศนียวิทยา เช่นเดียวกับงานจิตรกรรมไทยประเพณีในสมัยก่อนมีข้อความที่เขียนอธิบายสั้นๆ ใต้ภาพบุคคลบางแห่ง มีทั้งชื่อญาณและกิเลสประเภทต่างๆ