ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระศิวะ
ประติมากรรมบุคลสมัยบิญดิ่น เริ่มมีการจัดระเบียบมากขึ้นกว่าสมัยก่อนหน้า คือ ตาบทุกตาบของพระเศียรขึ้นไปอยู่เหนือกระบังหน้าทั้งหมด ลักษณะสำคัญของประติมากรรมสมัยบิญดิ่นและสมัยหลัง คือประทับนั่งพิงแผ่นหลัง โดยพระหัตถ์จำนวนมากติดไปกับแผ่นหลัง ส่วนผ้านั่งเองกักชักชายผ้าวงโค้งหรือชายผ้าสามเหลี่ยมตกลงมาด้านหน้า
ประติมากรรมหน้าบันรูปมหิษาสูรมรรทนีที่ปราสาทโพนคร
ปราสาทโพนคร เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปของพระภควตี ภาคหนึ่งของพระอุมา เป็นเทพีประจำอาณาจักรจามปาภาคใต้ โดยมีประวัติมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ว่า มีการสถาปนาปราสาทถวายแด่เทวรูปพระภควตีมาตั้งแต่สมัยหัวล่าย ต่อมาถูกองทัพขอมข้าทำลายในพุทธศตวรรษที่ 15 ทำให้มีการสร้างปราสาทหลังใหม่ในสมัยบิญดิ่นตอนต้น ซึ่งก็คือปราสาทหลังปัจจุบัน
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทถาปมาม
รูปสิงห์จากปราสาทถาปมาม แสดการยกแข้งยกขาตามแบบศิลปะจีน หน้าตาของสิงห์มีการปะปนระหว่าง "สิงห์" และ "มังกรจีน" เป็นอย่างมาก ทั้งการมีเครา การอ้าปากแลบลิ้น การมีเขี้ยวมุมปาก เป็นต้น ทั้งหมดนี้แสดงอิทธิพลของเวียดนามที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่แถบนี้
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทถาปมาม
รูปสิงห์แบบจากปราสาทถาปมาม แสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายนที่เข้ามามีบทบาทในศิลปะบิญดิ่นอย่างมาก เนื่องด้วยท่าทางของสิงห์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับสัตว์แบกฐานพระราชวังหลวงของเมืองพระนครอย่างมาก อนึ่ง เนื่องด้วยการโจมตีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้ประติมากรรมในระยะนี้มีอิทธิพลขอมเข้ามาปะปน การชักชายผ้ารูปสามเหลี่ยมด้านหน้าก็ถือเป็นอิทธิพลจากศิลปะขอมเช่นกัน
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทถาปมาม
รูปสิงห์จากปราสาทถาปมาม แสดการยกแข้งยกขาตามแบบศิลปะจีน รวมทั้งการมีเคราก็แสดงอิทธิพลจีนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หน้าตาของสิงห์ตัวนี้ยังแสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายนที่เข้ามามีบทบาทในศิลปะบิญดิ่นด้วย อนึ่ง เนื่องด้วยการโจมตีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้ประติมากรรมในระยะนี้มีอิทธิพลขอมเข้ามาปะปน
ประติมากรรมศิวนาฏราชบนหน้าบันของปราสาทโพกลวงการาย
แม้ว่าปราสาทโพกลวงการายจะมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 19 แต่หน้าบันรูปพระศิวนาฏราชชิ้นนี้กลับมีอายุเก่ากว่าเล็กน้อย คืออยู่ในศิลปะบิ่ญดิ่น แสดงให้เห็นถึงการนำเอาศิลปกรรมเก่ากลับมาใช้ใหม่ รูปแบบของมงกุฎพระศิวะนั้นสามารถเทียบได้กับมงกุฎในศิลปะบิญดิ่นโดยทั่วไป คือประกอบด้วยตาบเล็กๆ ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ในรูปสามเหลี่ยม ส่วนผ้านุ่งมีการชักชายผ้ารูปสามเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะประจำของศิลปะบิญดิ่นเช่นกัน
ประติมากรรมมุขลึงค์ประธานในปราสาทโพกลวงการาย
พระเศียรของพระศิวะที่มุขลึงค์ประธานของปราสาทโพกลวงการาย มีลักษณะสำคัญตามแบบศิลปะในสมัยหลังโดยทั่วไป กล่าวคือ พระพักตร์มีเคราตามอิทธิพลจีน/เวียดนาม และสวมมงกุฎเป็นทรงกระบอกซึ่งถือเป็นมงกุฎหนึ่งในสองแบบที่นิยมในศิลปะสมัยหลัง มงกุฎอีกแบบหนึ่งที่นิยมในระยะนี้ก็คือแบบกระบังหน้า
ประติมากรรมประติมากรรมประธานในปราสาทโพโรเม
ประติมากรรมโพโรเม ถือเป็นตัวอย่างของประติมากรรมในสมัยหลังได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือประทับนั่งเห็นเพียงครึ่งพระองค์ ด้านล่างจมหายไปกับแผ่นหลัง พระหัตถ์จำนวนมากก็เข้าไปติดยึดกับแผนหลังเช่นกัน พระพักตร์มีเคราตามอิทธิพลจีน/เวียดนามส่วนมงกุฎมักเป็นทรงกระบอก