ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองปะปนกับอิทธิพลจากศิลปะจีนและอินเดีย ประการแรกคือท่านั่งห้อยพระบาทที่ใช้พระหัตถ์ทั้งสองวางอู่บนพระชานุนั้นแสดงถึงอิทธิพลจีน แต่จีวรที่ห่มเฉียงและมีชายจีวรสั้นๆอยู่ที่พระอังสาซ้ายนั้นกลับเป็นลักษณะประจำในศิลปะปาละของอินเดีย อย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้กลับแสดงความเป็นพื้นเมืองอย่างมากมาย เช่น พระโอษฐ์ที่หนา พระขนงต่อเป็นปีกกาและพระเนตรโปน เป็นต้น
ประติมากรรมหน้าบันรูปวิษณุอนันตศายินจากปราสาทมิเซิน E
ซุ้มของปราสาทมิเซินกลุ่ม E นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับกูฑุหรือจันทรศาลาในศิลปะอินเดียอย่างมาก กล่าคือเป็นซุ้มเรียบ วงโค้งเตี้ย ที่ปลาประดับมกรหันออก อย่างไรก็ตาม ศิลปะจามได้เพิ่มลายม้วนเข้าด้วย ทำให้ซุ้มมีทั้งม้วนเข้าและม้วนออกไปพร้อมกัน กึ่งกลางปรากฏภาพเล่าเรื่องตอนวิษณุอนันตศายินปัทมนาภะ หรือพระวิษณุบรรทมกลางเกษียรสมุทรและมีพระพรหมผุดขึ้นมาจากพระนาภี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในศาสนาฮินดู
ประติมากรรมเศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระเศียรของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ทรงชฎามงกุฎตามแบบนักบวช มีกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา พระพักตร์มีความเป็นอินเดีย-ชวาสูง คือพระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระโอษฐ์บาง ไม่มีพระมัสสุ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้
ประติมากรรมพระวิษณุทรงครุฑ
พระวิษณุทรงครุฑองค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาปะปนกับศิลปะพื้นเมืองหัวล่าย โดยกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา แต่พระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้เริ่มมีพระโอษฐ์หนา พระเนตรโปนและมีพระมัสสุตามแบบพื้นเมือง ครุฑที่มีจะงอยปากนกและมีปีกเป็นกนกเองก็เป็นลักษณะพื้นเมืองเช่นกัน
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร
พระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้ กล่าวคือทรงกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา นุ่งผ้าโธตียาวที่มีผ้าคาดวงโค้งกว้างตามแบบศิลปะอินเดียใต้-ชวาภาคกลาง อยย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้เริ่มมีพระโอษฐ์หนาและพระเนตรโปนตามแบบพื้นเมืองแล้วยัชโญปวีตในระยะนี้ก็หายไปซึ่งแตกต่างไปจากศิลปะชวา
ประติมากรรมครอบมุขลึงค์
มุขลึงค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้ที่มีพระโอษฐ์หนา พระนาสิกใหญ่พระเนตรโปน พระขนงต่อกันเป็นปีกกาและมีพระมัสสุตามแบบพื้นเมืองพระพักตร์แบบพื้นเมืองนี้แตกต่างอย่างมากไปจากพระพักตร์แบบอินเดียชวา-ซึ่งปรากฏมาก่อนในศิลปะมิเซิน E1 และจะปรากฏอีกในศิลปะมิเซิน A1 บางครั้ง ศิวลึงค์ที่ทำด้วยวัสดุปกติก็อาจถูกครีอบด้วย “ครอบโลหะมีค่า” ซึ่งทำให้ศิวลึงค์นั้นๆดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ครองโลหะนั้นอาจหล่อด้ยทอดแดง เงินหรือทองคำก็ได้
ประติมากรรมพระเศียรของพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้ที่มีพระโอษฐ์หนา พระนาสิกใหญ่พระเนตรโปน พระขนงต่อกันเป็นปีกกาและพระเกศาขมวดเป็นปอยตามแบบพื้นเมือง น่าสังเกตว่าด้านบนสุดปรากฏอุษณีษะซึ่งได้กลายเป็นรูปดอกบัวอันแสดงให้เห็นความเป็นพื้นเมืองอย่างมาก
ประติมากรรมฐานชุกชีจากปราสาทดงเดือง
ฐานขนาดใหญ่นี้เป็นหนึ่งในฐานชุกชีจำนวน 2 ฐานสำหรับพระพุทธรูปประธานของปราสาทดงเดือง โดยฐานหนึ่งนำมาจากพระวิหารด้านหน้าและอีกฐานหนึ่งนำมาจากปราสาทประธาน ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ดานัง ฐานชุกชีแห่งนี้ประดับด้วยภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติขนาดเล็กอยู่ในช่องสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังประดับไปด้วยลายกนกขนมจีนและซุ้มแบบดงเดือง