ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 369 ถึง 376 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
เทวาลัยพระศิวะ: จันทิปรัมบะนัน
กลาเตน
สถาปัตยกรรมเทวาลัยพระศิวะ: จันทิปรัมบะนัน

เทวาลัยพระศิวะ ถือว่าเป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีแผนผังกากบาทและมีห้องเล็กๆจำนวนห้าห้อง ซึ่งแสดงให้เห็นแผนผังที่สืบมาจากเทวาลัยในพุทธศาสนามหายานที่สร้างขึ้นในระยะร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม เทวาลัยแห่งนี้อุทิศให้กับเทพเจ้าในศาสนาอินดูทั้งหมด อันได้แก่ห้องกลางนั้นอุทิศให้กับพระศิวะ ด้านทิศใต้อุทิศให้กับพระอคัสตยะ ด้านตะวันตกอุทิศให้กับพระคเณศ และด้านทิศเหนืออุทิศให้กับนางมหิษาสูรมรรทนี ตัวอาคารประกอบด้วยฐานประดับรูปเทพประจำทิศ เรือนธาตุแบ่งออกเป็นสองชั้นซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการที่แตกต่างไปจากจันทิหลังอื่นๆในระยะก่อนหน้า เรือนธาตุในแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มจระนำยอดปราสาทที่เหมือนกันทั้งหมด สำหรับยอดปราสาทนั้น เนื่องจากเทวาลัยดังกล่าวมีแผนผังกากบาทตั้งแต่ฐานยันยอดวิมาน ซึ่งทำให้เรือนธาตุจำลองทุกชั้นมีแผนผังกากบาทเช่นเดียวกับเรือนธาตุ แผนผังดังกล่าวทำให้ยอดปราสาทของจันทิหลังนี้มีความซับซ้อนกว่าจันทิในศิลปะชวาระยะก่อนหน้าอาคารจำลองที่ประดับชั้นวิมานยังคงมีลักษณะเป็น “อาคารจำลองยอดสถูปิกะ” ดังที่ปรากฏมาก่อนแล้วในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย อย่างไรก็ตาม สถูปิกะยอดอาคารจำลองเหล่านี้กลับมีริ้วกลีบมะเฟืองอันคล้ายคลึงกับอมลกะในศิลปะอินเดียเหนือเป็นอย่างยิ่ง

จันทิกิดาล
กิดาล
สถาปัตยกรรมจันทิกิดาล

จันทิแห่งนี้ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ต่อมาจะกลายเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ เป็นจันทิขนาดเล็กที่มีห้องครรภคฤหะเพียงห้องเดียว ตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้นที่ เหนือประตูกลางปรากฏหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้ายตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออก คือ เป็นหน้ากาลที่มีปากล่าง มีเขี้ยวยื่นออกมา มีเขาและมีมือที่ชูนิ้วขึ้นในท่าขู่ เรือนธาตุคาด “เส้นรัดอก” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของจันทิมีลักษณะที่ต่อมาจะปรากฏเสมอๆในศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ ปรากฏ “ชั้นหน้ากระดาน” สลับอาคารจำลองขนาดเล็กเรียงกันจำนวน 5 หลัง

จันทิจาโก
ตุมปัง
สถาปัตยกรรมจันทิจาโก

ศาสนสถานมีฐานรองรับ 3 ชั้นโดยสลักเรื่องการวิวาทกันระหว่างราชวงศ์ปาณฑพและเการพในมหาภารตะ โดยเริ่มตั้งแต่พวกปาณฑพเล่นสกากับพวกเการพ การเปลื้องผ้านางเทราปตี การถูกขับไล่ออกจากเมืองจนถึงพระอรชุนไปบำเพ็ญตบะที่เขาอินทรกิละ และเรื่องการรับอาวุธปาศุปัตจากพระศิวะที่แปลงตนเองมาเป็นนายพรานชื่อกิราตะ หลังคาของปราสาทด้านบนได้หักพังลงมาหมดแล้ว แต่เป็นไปได้ที่หลังคาของปราสาทอาจเป็นเรื่องไม้มุงกระเบื้องหรือมุงฟาง โดยเป็นหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบ “เมรุ” ก็ได้

จันทิสิงหาส่าหรี
สิงหาส่าหรี
สถาปัตยกรรมจันทิสิงหาส่าหรี

จันทิสิงหาส่าหรีมีลักษณะแผนผังที่แปลกประหลาด โดยห้องกลางของจันทิไม่สามารถเข้าไปได้ คือเป็นจันทิที่เรือนธาตุปิดเป็นห้องกรุทึบเนื่องจากตั้งอยู่ด้านบน ส่วนห้องที่มุขทั้ง 4 ทิศนั้นตั้งอยู่ที่ฐานด้านล่างและสามารถเข้าไปภายในได้ ห้องกลางประดิษฐานศิวลึงค์ ห้องด้านทิศใต้ประดิษฐานอคัสตยะ ห้องด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระคเณศ ส่วนด้านทิศเหนือประดิษฐานมหิษาสูรมรรทนี แผนผังแบบนี้ปรากฏมาแล้วตั้งแต่จันทิปรัมบะนันในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย อาคารชั้นบนของจันทิสิงหาส่าหรีมีรูปแบบที่เทียบได้กับจันทิโดยทั่วไปในศิลปะชวาภาคตะวันออก คือ เรือนธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัสรัดด้วยรัดอก ทั้งสี่ด้านปรากฏประตูหลอกซึ่งมีหน้ากาลประดับอยู่ด้านบน ถัดขึ้นไปได้แก่ชั้นซ้อนซึ่งประกอบด้านหน้ากระดานสลับกับอาคารจำลอง

จันทิจาวี
จันทิจาวี
สถาปัตยกรรมจันทิจาวี

จันทิประกอบด้วยเรือนธาตุซึ่งมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออก ด้านหน้ามีประตูขนาดใหญ่ มีเส้นรัดอกคาดเรือนธาตุและหน้ากาลมีลักษณะดุร้ายตามแบบศิลปะชวาตะวันออก ส่วนยอดนั้นมีลักษณะตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออกโดยทั่วไป กล่าวคือ ประกอบด้วย “ชั้นหน้ากระดาน” ซ้อนกันถี่มากจนเส้นรอบนอกของยอดเป็นเส้นตรง ซึ่งแสดงความใกล้ชิดกับยอดแบบ “เมรุ” ในศิลปะบาหลีเข้าไปทุกที ที่มุมของหลังคาเทวาลัยทุกชั้นประดับด้วยหน้ากาลรูปสามเหลี่ยม ซึ่งยอดเมรุสลักหินในศิลปะบาหลีก็จะปรากฏการประดับทำนองนี้เช่นกัน

ลานทั้งสาม จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมลานทั้งสาม จันทิปะนะตะรัน

แผนผังของจันทิแห่งนี้คล้ายกับเทวาลัยในเกาะบาหลีในปัจจุบัน คือแบ่งออกเป็น 3 ลาน ลานด้านหน้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนเทวาลัยประธานนั้นตั้งอยู่ด้านในสุดทางทิศตะวันออกติดกับเชิงเขา ลานชั้นแรกปรากฏฐานหินขนาดใหญ่ 2 ฐาน คงเคยรองรับอาคารโถงที่สร้างด้วยไม้ ฐานดังกล่าวนี้คงเคยรองรับอาคารไม้ที่ใช้สำหรับการทำพิธีกรรม ซึ่งตรงกับ Bale Agung ในศิลปะบาหลี ลานชั้นที่ 3 หรือลานประธานนั้น เป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นเพื่อรองรับจันทิประธาน ฐานเป็นชั้นนี้คงมีความหมายเกี่ยวพันกับเขาพระสุเมรุอันเป็นเขาแกนกลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของพระศิวะ อย่างไรก็ตาม อาคารด้านบนฐานดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน

เทวาลัยที่มีจารึกกำหนดอายุ จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมเทวาลัยที่มีจารึกกำหนดอายุ จันทิปะนะตะรัน

แผนผังของจันทิแห่งนี้คล้ายกับเทวาลัยในเกาะบาหลีในปัจจุบัน คือแบ่งออกเป็น 3 ลาน ระหว่างลานชั้นที่ 1 กับลานชั้นที่ 2 นั้น ปรากฏจันทิซึ่งมีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในพ.ศ.1912 เทวาลัยมีขนาดเล็กและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุมีรัดอกคาดและที่ประตูทั้งสี่ทิศประดับหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้าย คือ มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือยกขึ้นในท่าขู่ตามแบบชวาตะวันออกโดยทั่วไป ยอดของจันทิมีรูปแบบคล้ายคลึงกับจันทิในระยะก่อนหน้า คือประกอบด้วยชั้นหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่ประดับด้วยอาคารจำลอง อย่างไรก็ตาม เส้นรอบนอกของยอดที่นี่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่อ่อนช้อยกว่าสมัยสิงหาส่าหรี อาคารจำลองของจันทิที่มีจำนวนถึง 7 หลังนั้น ก็มีจำนวนมากกว่าสมัยสิงหาส่าหรีที่มีจำนวนเพียง 5 หลังต่อชั้นเท่านั้น

อาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน
บลิตาร์
สถาปัตยกรรมอาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน

ที่ลานด้านหน้าจันทิปะนะตะรันนั้น ปรากฏอาคารซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นอาคารที่มีเทวดาถือนาคพันอยู่โดยรอบ เทวดาทรงกิรีฏมกุฎ แต่งกายตามแบบชวาตะวันออกคือประดับไปด้วยอุบะห้อยขนาดเล็กจำนวนมาก มือหนึ่งถือระฆังซึ่งใช้ในพิธีกรรมส่วนอีกมือหนึ่งถือถือลำตัวนาค อาคารหลังนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใช้ทำอะไร บางท่านเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรจึงอาจเป็นไปได้ที่เป็นอาคารที่ใช้ในการเสกน้ำมนต์