ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

ภาชนะดินเผาบ้านเชียง

คำสำคัญ : ประติมากรรมดินเผา, ดินเผา, ภาชนะดินเผา, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง, บ้านเชียง

ชื่อหลักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง
ประเภทงานศิลปะประติมากรรม
ที่อยู่หมู่ 13 ถนนสุทธิพงษ์
ตำบลบ้านเชียง
อำเภอหนองหาน
จังหวัดอุดรธานี
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 17.406915
Long : 103.237056
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 Q
Hemisphere : N
E : 312635.75
N : 1925462.16
ตำแหน่งงานศิลปะจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้าง

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ดินเผา

ลักษณะทางศิลปกรรม

เป็นภาชนะดินเผาในหลุมฝังศพที่พบได้จากการขุดค้นในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

1.สมัยต้น มีอายุระหว่าง 4,300-3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย

ระยะที่ 1 มีภาชนะดินเผาประเภทเด่นคือ ภาขนะดินเผาสีดำ-เทาเข้ม มีเชิงหรือฐานเตี้ยๆ ลำตัวภาชนะครึ่งบนมักตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้ง แล้วตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการกดจุดหรือเป็นเส้นสั้นๆ เติมในพื้นที่ระหว่างลายเส้นคดโค้ง ส่วนครึ่งล่างของตัวภาชนะมักตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ซึ่งหมายถึงลวดลายที่เกิดจากการกดประทับผิวภาชนะดินเผาด้วยเชือกนั่นเอง

ระยะที่ 2 เริ่มปรากฏภาชนะดินเผาแบบใหม่เพิ่มขึ้นมา คือ ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่ใช้บรรจุศพเด็กก่อนที่จะนำไปฝัง นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาขนาดสามัญซึ่งมีการตกแต่งพื้นที่ส่วนใหญ่บนผิวภาชนะด้านนอกด้วยเส้นขีดเป็นลายคดโค้ง จึงดูเสมือนเป็นภาชนะที่มีปริมาณลวดลายขีดตกแต่งหนาแน่นกว่าบนภาชนะของสมัยต้นช่วงแรก

ระยะที่ 3 เริ่มปรากฏภาชนะแบบที่มีผนังด้านข้างตรงถึงเกือบตรง ทำให้มีรูปร่างภาชนะเป็นทรงกระบอก (beaker) และยังมีภาชนะประเภอหม้อก้นกลม คอภาชนะสั้นๆ ปากตั้งตรง ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบตลอดทั้งใบ

ระยะที่ 4 ปรากฏภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลม มีกลุ่มหนึ่งตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมกับการระบายด้วยสีแดง ในขณะที่ส่วนบริเวณลำตัวภาชนะช่วงใต้ไหล่ลงมาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาแบบนี้มีการตั้งชื่อว่า “ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว” เพราะพบว่าเป็นภาชนะดินเผาประเภทหลักที่พบในชั้นอยู่อาศัยของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงแรกที่บ้านอ้อมแก้ว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเชียง

2.สมัยกลาง อายุระหว่าง 3,000-2,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย

ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ ผิวนอกสีขาว ทำส่วนไหล่ภาชนะหักมุมหรือโค้งมากจนเกือบเป็นมุมค่อนข้างชัด มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม บางใบมีการตกแต่งด้วยลายขีดผสมกับลายเขียนสีที่บริเวณใกล้ปากภาชนะ ในช่วงปลายสุดของสมัยกลาง เริ่มมีการตกแต่งปากภาชนะดินเผารูปแบบเช่นนี้ด้วยการทาสีแดง

3.สมัยปลาย อายุระหว่าง 2,300-1,800 ปีมาแล้ว

ช่วงต้นของสมัยปลาย พบภาชนะดินเผาเขียนสีแดงบนพื้นสีนวล

ช่วงกลางของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแดงบนพื้นสีแดง

ช่วงท้ายของสมัยปลาย เริ่มมีการใช้ภาชนะดินเผาทาด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน

ลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะดินเผา สามารถจำแนกได้ดังนี้

1.กลุ่มลวดลายรูปร่างเรขาคณิต

2.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพสมมาตร

3.กลุ่มลวดลายอิสระแบบดุลยภาพอสมมาตร

ส่วนรูปแบบลวดลายที่นิยมในสมัยปลาย คือ การเขียนสีบนเคลือบน้ำดินสีนวล ลวดลายวงกลมหรือวงรี ลวดลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลาง ลายเส้นโค้งแบบก้นหอยวนเข้าหาจุดศูนย์กลางแล้ววนออกและลวดลายตัว S และ Z

ลวดลายภาชนะแสดงถึงความพิถีพิถัน ผู้ผลิตสร้างขึ้นให้กับผู้ตายตามประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตาย พื้นฐานทางความคิดของผู้สร้างสรรค์ลวดลายของชุมชนมีความร่วมกันทางวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏถึงความหลากหลายในการออกแบบ ซึ่งมีพัฒนาการในระยะแรกเริ่มจากรูปแบบเรียบง่าย ต่อมาในระยะหลังเมื่อผลิตจำนวนมากขึ้น มีความรู้ความชำนาญมากขึ้นก็พัฒนาไปสู่การสร้างลวดลายที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สกุลช่างก่อนประวัติศาสตร์หินใหม่
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ภาชนะดินเผาที่มีลายเขียนสีแดง โดยเขียนเป็นภาพลายเส้นสัญลักษณ์ที่แม้ว่ายังไม่ทราบความหมายแน่ชัด แต่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์สำคัญของวัฒนธรรมบ้านเชียงที่ไม่เหมือนที่อื่น

ยุคก่อนประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะหินใหม่, ก่อนประวัติศาสตร์
อายุ1,800 – 4,300 ปีมาแล้ว
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องบูชาธรรมชาติ

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-27
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

สุรพล นาถะพินธุ. มรดกโลกบ้านเชียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2550.

อัตถสิทธิ์ สุขขำ. การศึกษาและลำดับอายุจากลวดลายบนผิวภาชนะดินเผาในหลุมฝังศพกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยปลาย : กรณีศึกษาจากการขุดค้นหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.