ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมจันทิจาวี
จันทิประกอบด้วยเรือนธาตุซึ่งมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออก ด้านหน้ามีประตูขนาดใหญ่ มีเส้นรัดอกคาดเรือนธาตุและหน้ากาลมีลักษณะดุร้ายตามแบบศิลปะชวาตะวันออก ส่วนยอดนั้นมีลักษณะตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออกโดยทั่วไป กล่าวคือ ประกอบด้วย “ชั้นหน้ากระดาน” ซ้อนกันถี่มากจนเส้นรอบนอกของยอดเป็นเส้นตรง ซึ่งแสดงความใกล้ชิดกับยอดแบบ “เมรุ” ในศิลปะบาหลีเข้าไปทุกที ที่มุมของหลังคาเทวาลัยทุกชั้นประดับด้วยหน้ากาลรูปสามเหลี่ยม ซึ่งยอดเมรุสลักหินในศิลปะบาหลีก็จะปรากฏการประดับทำนองนี้เช่นกัน
สถาปัตยกรรมลานทั้งสาม จันทิปะนะตะรัน
แผนผังของจันทิแห่งนี้คล้ายกับเทวาลัยในเกาะบาหลีในปัจจุบัน คือแบ่งออกเป็น 3 ลาน ลานด้านหน้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ส่วนเทวาลัยประธานนั้นตั้งอยู่ด้านในสุดทางทิศตะวันออกติดกับเชิงเขา ลานชั้นแรกปรากฏฐานหินขนาดใหญ่ 2 ฐาน คงเคยรองรับอาคารโถงที่สร้างด้วยไม้ ฐานดังกล่าวนี้คงเคยรองรับอาคารไม้ที่ใช้สำหรับการทำพิธีกรรม ซึ่งตรงกับ Bale Agung ในศิลปะบาหลี ลานชั้นที่ 3 หรือลานประธานนั้น เป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นเพื่อรองรับจันทิประธาน ฐานเป็นชั้นนี้คงมีความหมายเกี่ยวพันกับเขาพระสุเมรุอันเป็นเขาแกนกลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของพระศิวะ อย่างไรก็ตาม อาคารด้านบนฐานดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน
สถาปัตยกรรมเทวาลัยที่มีจารึกกำหนดอายุ จันทิปะนะตะรัน
แผนผังของจันทิแห่งนี้คล้ายกับเทวาลัยในเกาะบาหลีในปัจจุบัน คือแบ่งออกเป็น 3 ลาน ระหว่างลานชั้นที่ 1 กับลานชั้นที่ 2 นั้น ปรากฏจันทิซึ่งมีจารึกระบุว่าสร้างขึ้นในพ.ศ.1912 เทวาลัยมีขนาดเล็กและอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรือนธาตุมีรัดอกคาดและที่ประตูทั้งสี่ทิศประดับหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้าย คือ มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือยกขึ้นในท่าขู่ตามแบบชวาตะวันออกโดยทั่วไป ยอดของจันทิมีรูปแบบคล้ายคลึงกับจันทิในระยะก่อนหน้า คือประกอบด้วยชั้นหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่ประดับด้วยอาคารจำลอง อย่างไรก็ตาม เส้นรอบนอกของยอดที่นี่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่อ่อนช้อยกว่าสมัยสิงหาส่าหรี อาคารจำลองของจันทิที่มีจำนวนถึง 7 หลังนั้น ก็มีจำนวนมากกว่าสมัยสิงหาส่าหรีที่มีจำนวนเพียง 5 หลังต่อชั้นเท่านั้น
สถาปัตยกรรมอาคารที่มีนาคพัน จันทิปะนะตะรัน
ที่ลานด้านหน้าจันทิปะนะตะรันนั้น ปรากฏอาคารซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นอาคารที่มีเทวดาถือนาคพันอยู่โดยรอบ เทวดาทรงกิรีฏมกุฎ แต่งกายตามแบบชวาตะวันออกคือประดับไปด้วยอุบะห้อยขนาดเล็กจำนวนมาก มือหนึ่งถือระฆังซึ่งใช้ในพิธีกรรมส่วนอีกมือหนึ่งถือถือลำตัวนาค อาคารหลังนี้ยังไม่แน่ชัดว่าใช้ทำอะไร บางท่านเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรจึงอาจเป็นไปได้ที่เป็นอาคารที่ใช้ในการเสกน้ำมนต์
สถาปัตยกรรมฐานเป็นชั้น: จันทิปะนะตะรัน
ลานประธาน เป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นเพื่อรองรับจันทิประธาน ฐานเป็นชั้นนี้คงมีความหมายเกี่ยวพันกับเขาพระสุเมรุอันเป็นเขาแกนกลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของพระศิวะ อย่างไรก็ตาม อาคารด้านบนฐานดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้วจนถึงปัจจุบัน และอาจเป็นไปได้ที่อาคารหลังนี้อาจเคยเป็นทรง “เมรุ” หรืออาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบที่ปรากฏในศิลปะบาหลีในปัจจุบัน ฐานชั้นที่หนึ่ง สลักภาพเล่าเรื่องรามายณะบรรจุในกรอบสี่เหลี่ยม เริ่มต้นตั้งแต่ตอนหนุมานเดินทางไปถวายแหวนที่เกาะลังกา การเผากรุงลังกา การจองถนนจนถึงกุมภรรณล้ม ภาพเล่าเรื่องตอนนี้มีลักษณะคล้ายหนังตะลุงชวา (วาหยัง) มาก ฐานชั้นที่สอง สลักเรื่องของพระกฤษณะ ส่วนฐานชั้นบนสุด ได้แก่ฐานที่รองรับเทวาลัยประธาน ปัจจุบันปรากฏภาพสิงห์และนาคมีปีกสลับกัน
สถาปัตยกรรมจันทิติกุส
เมืองโตรวูลัน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์มัชฌปาหิต สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 20 มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง เช่น จันทิติกุสซึ่งเป็นสระน้ำ หรือซุ้มประตูเทวาลัยต่างๆ โบราณสถานในเมืองนี้มักสร้างด้วยอิฐอันแตกต่างไปจากโบราณสถานสมัยชวาภาคตะวันออกแห่งอื่นๆที่มักสร้างด้วยหิน
สถาปัตยกรรมโคปุระบาจังระตู
เป็นโคปุระที่งดงามที่สุดในสมัยราชวงศ์มัชฌปาหิต เป็นโคปุระที่สร้างด้วยอิฐซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับสถาปัตยกรรมที่โตรวุลัน ตัวโคปุระมีซุ้มประตูที่ปรับด้วยหน้ากาลสลักอิฐ หน้ากาลมีเขา มีเขี้ยว มีปากล่างและมีมือซึ่งเป็นลักษณะปกติสำหรับหน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของโคปุระมีลักษณะคล้ายคลังกับเทวาลัยหลังเล็กที่จันทิปะนะตะรัน กล่าวคือ ประกอบด้วยหน้ากระดานคู่สลับกับเรือนธาตุจำลองที่มีอาคารจำลองจำนวน 5 หลังประดับ เส้นรอบนอกของยอดวิมานมีลักษณะเป็นเส้นโค้งที่งดงาม โคปุระที่มียอดปราสาทเช่นนี้ ต่อมาจะปรากฏอีกในศิลปะบาหลี
สถาปัตยกรรมอาคารทรงเมรุที่ปุระอุลุนดานู
ทะเลสาบบราตัน เป็นที่ตั้งของปุระอุลุนดานูซึ่งสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ราชวงศ์เม็งวีใน พ.ศ.2167 เทวาลัยหลังนี้ถือว่าเป็นเทวาลัยที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในศิลปะบาหลี เนื่องจากเป็นอาคารทรงเมรุที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆกลางทะเลสาบ