ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน แผนผังแบบจัตุรมุข มุขด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อเป็นแนวระเบียงคดในผังสี่เหลี่ยมล้อมรอบพระอุโบสถ หลังคาซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีประดับกรอบหน้าบันด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนาคสะดุ้งโดยมีโครงสร้างแบบคอนกรีต หน้าบันแต่ละทิศประดับลวดลายไทยที่มีลักษณะเรียบง่าย ไม่เน้นความอ่อนช้อย
ประติมากรรมพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องต้นอย่างพระมหาจักรพรรดิ พระพักตร์สงบนิ่งอย่างหุ่น พระขนงโก่ง มีอุณาโลมบนพระนลาฏ ทรงมงกุฎประกอบด้วยกรรเจียกจร พระพุทธรูปแสดงปางห้ามสมุทร หรือประทานอภัย 2 พระหัตถ์ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียง สวมกรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร พระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ สายรัดพระองค์มีปั้นเหน่งรูปดอกไม้แปดเหลี่ยม ด้านล่างมีสุวรรณกระถอบห้อยอยู่เบื้องหน้า มีทั้งชายไหวชายแครง ทรงทองพระบาทและฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเหนือฐานสิงห์มีสิงห์แบก ครุฑแบกและเทวดาแบกลดหลั่นกัน
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดร่องขุ่น
มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรมอุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่นสีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้ากระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าสะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิสันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
สถาปัตยกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
วัดญาณสังวรารามแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตโครงการในพระราชดำริ และเขตอุบาสกอุบาสิกา โดยสถาปัตยกรรมภายในวัดมีทั้งอาคารแบบไทยประเพณี คือ พระอุโบสถ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร อาคารแบบจีน คือ วิหารเซียน อาคารแบบไทยประยุกต์ คือ หอกลอง ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากป้อมมหากาฬ และยังมีการจำลองวิหารมหาโพธิ์ พุทธคยามาไว้ด้วย หรือพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยภายใน 3 ชั้น ได้แก่ชั้นล่างเป็นโถงใหญ่สำหรับงานบำเพ็ญกุศล ชั้นสองเป็นที่ชุมนุมสงฆ์และปฏิบัติสมาธิภาวนา และชั้นสามสำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอาคารหลังคาคลุมแบบไทยประเพณี ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องพื้นสีน้ำเงิน ขอบมุงกระเบื้องสีส้มและเหลือง หลังคาซ้อน 3 ชั้น 4 ตับ ปิดทองประดับกระจก ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง หน้าบันทั้ง 2 ด้าน ประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ พื้นหลังประดับลายก้านขดตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังอาคารด้านนอกปิดทองประดับกระจก ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานโดยรอบอาคารประดับประติมากรรมรูปครุฑยุดนาค มีซุ้มประตูเรือนยอดที่ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ ด้านละ 3 ซุ้มประตู มีประติมากรรมสิงโตสำริด 3 คู่ ประดับที่บันไดทางขึ้นด้านหน้าระเบียงโดยรอบพระอุโบสถมีเสาพาไลย่อมุมไม้สิบสองปิดทองประดับกระจก ประดับบัวแวงที่หัวเสา มีคันทวยรองรับบริเวณชายคา
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีเสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ไม่ประดับบัวหัวเสารองรับน้ำหนักซึ่งทำให้อาคารดูมั่นคงแข็งแรง เครื่องหลังคาไม่ใช้เครื่องไม้ แต่เป็นงานก่ออิฐถือปูน หน้าบันไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ประดับลวดลายอย่างจีน โดยเป็นลายสัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคลและลายทิวทัศน์ กรอบหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นเครื่องถ้วยจีน หน้าบันแบ่งเป็น 2 ตับ ตับบนประดับรูปแจกันและช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ที่กึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยมังกรคู่ ถัดขึ้นไปเป็นหงส์คู่ และลายมงคลอื่นๆ ตับล่างเป็นภาพทิวทัศน์ มีบ้าน ภูเขา เขามอ ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารจตุรมุข หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มุขด้านตะวันออกขยายยาว มุขตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ มุขด้านเหนือและใต้เชื่อมต่อกับพระระเบียงมีหลังคาโอบล้อมไปทางด้านหลังพระอุโบสถด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน 4 ต้น ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน 2 ตัว ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเขียน มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้าบานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพทวารบาล ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมารแบก ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก ซุ้มประตูหน้าต่างประดับกระจกสีหลังคาพระอุโบสถเป็นแบบไทยประเพณีประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีนหน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯให้ทำเป็นตราพระราชลัญจกรที่สำคัญของแผ่นดิน ได้แก่ 1. มุขตะวันออก เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 2. มุขตะวันตก เป็นรูปอุณาโลมในบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 3. มุขเหนือ เป็นรูปช้างสามเศียรเชิญบุษบก ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 4. มุขใต้ เป็นรูปจักร ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร"