ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

อุโบสถวัดหน้าพระเมรุ

คำสำคัญ : อุโบสถ, วัดหน้าพระเมรุ, วัดเมรุราชิการาม

ชื่อหลักวัดเมรุราชิการาม
ชื่ออื่นวัดหน้าพระเมรุ
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลลุมพลี
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.3626
Long : 100.55877
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 668083.86
N : 1588395.96
ตำแหน่งงานศิลปะกลางวัด

ประวัติการสร้าง

วัดหน้าพระเมรุไม่มีประวัติการสร้างที่แน่ชัดปรากฏในพระราชพงศาวดาร แต่มีตำนานเล่าว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระองค์อินทร์ มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2046

จากชื่อวัดทำให้สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพระเมรุเจ้านายสมัยอยุธยา เพราะวัดแห่งนี้อยู่ทางเหนือของพระราชวังโบราณ มีเพียงแม่น้ำลพบุรีสายเดิมคั่นกลาง

วัดแห่งนี้คงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรระบุให้ทราบได้ แต่จากการเปรียบเทียบทางรูปแบบศิลปกรรมพบว่าอุโบสถหลังนี้ประดับช่องแสงด้วยลายลูกมะหวดเหลี่ยม คล้ายระเบียงคดวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุอยุธยาที่อาจจะบูร

ณะในสมัยพระองค์เช่นกัน พระพุทธรูปประธานก็เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบเดียวกันกับวัดไชยวัฒนาราม จึงเชื่อว่าวัดแห่งนี้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

การขุดแต่งวัดหน้าพระเมรุครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2541 –2542 โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานคือบริเวณพระปรางค์ เจดีย์รายทรงกลม 3 องค์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด เมื่อขุดแต่งเรียบร้อยจึงทำการบูรณะเสริมความมั่นคงให้กับโบราณสถาน
ลักษณะทางศิลปกรรม

อุโบสถหลังนี้ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศใต้สู่แม่น้ำลพบุรีสายเดิม แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงทางด้านหน้าและด้านหลัง ผนังด้านหน้ามีทั้งประตูทางเข้าสองบานและประตูช่องแสงขนาดใหญ่ ผนังด้านหลังมีประตูทางเข้าสองบาน ผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องแสงหรือช่องลม

หลังคาทรงจั่วซ้อน 3 ชั้น โครงสร้างเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง หลังคาด้านหน้าเป็นมุขคลุมส่วนหนึ่งของระเบียงด้านหน้า มีเสาพาไลรองรับชายหลังคาด้านข้าง
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

อุโบสถวัดหน้าพระเมรุได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 และสมัยปัจจุบัน แต่ยังถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของสถาปัตกรรมหลังคาคลุมในสมัยอยุธยาได้ แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมหลังคาคลุมที่ยังใช้ช่องแสงหรือช่องลมแทนหน้าต่าง อันเป็นหนึ่งรูปแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้นถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ทำให้สามารถนำไปใช้สันนิษฐานถึงสภาพที่สมบูรณ์ของอาคารหลังอื่นๆได้

ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา พบว่าพื้นที่ของวัดพระเมรุมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสู้รบระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2106 (ศักราชตามพระราชพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ) ได้เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าบุเรงนองกระทำพระราชไมตรี ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2303 เป็นสถานที่ตั้งปืนใหญ่ของพม่าที่ยิงเข้าไปยังพระราชวังกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์พม่าคือพระเจ้าอลองพญาทรงบัญชาทัพด้วยพระองค์เอง ครั้งนั้นปืนใหญ่แตกต้องพระองค์ พม่าจึงเลิกทัพกลับไป ในที่สุดพระเจ้าอลองพญาได้สวรรคตลง
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะอยุธยา
อายุพุทธศตวรรษที่ 21-22
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

วิหารหลวงวัดมหาธาตุอยุธยา โดยมีรูปแบบของช่องแสงลูกมะหวดเหลี่ยมแบบเดียวกัน เชื่อว่าอาจจะสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกัน

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-12
ผู้จัดทำข้อมูลดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. พระราชวังและวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. พระนคร : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2511.

ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532.

สันติ เล็กสุขุม. ศิลปะอยุธยา งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2542.

ห้างหุ้นส่วนจำกัด บูรพคดี. รายงานการขุดแต่งออกแบบและบูรณะโบราณสถานวัดหน้าพระเมรุ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ: บูรพคดี, 2542.