ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สถาปัตยกรรมปราสาทภูมิโปน
ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยอาคารขนาดต่างๆ เรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ 4 หลัง อาคารหลังอื่นๆ ยกเว้นปราสาทประธานเหลือแต่เพียงส่วนฐาน ในขณะที่ปราสาทประธานมีสภาพสมบูรณ์จนถึงยอดปราสาทปราสาทประธานก่อด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านอื่นๆ อีกสามด้านเป็นประตูหลอก มุมทั้งสี่ตกแต่งเป็นเสาอิงหรือเสาหลอก เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 2-3 ชั้น ภายในครรภคฤหะมีสภาพเป็นหลุมขนาดใหญ่ ไม่พบแท่นฐานและรูปเคารพดั้งเดิม มุมทั้งสี่มีรอยหลุมเสา ผนังด้านเหนือมีท่อโสมสูตรหินทรายฝังอยู่ภายใน

สถาปัตยกรรมดอนขุมเงิน
จากสภาพปัจจุบันซึ่งพังทลายและถูกรื้อทำลายอย่างมาก ทำให้เห็นว่าศาสนสถานแห่งนี้มีหลายอย่างที่ผิดแปลกไปจากปราสาทในวัฒนธรรมเขมรอื่นๆ ทั่วไป เช่น หินทรายที่นำมาใช้ก่อสร้างมิได้มีความหนาเฉกเช่นหินทรายตามปราสาทหินทั่วไป หินทรายบางจุดนำมาก่อในลักษณะของแนวคันเขื่อนมากกว่านำมาเรียงก่อเป็นตัวสถาปัตยกรรมแบบปราสาทหิน แผนผังของศาสนสถานหลังนี้ประกอบด้วยอาคารประธานหินทราย สภาพพังทลายและถูกรื้อทำลายจนเหลือแต่ฐาน สันนิษฐานรูปแบบดั้งเดิมได้ยาก ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของอาคารประธานมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมที่กรุผนังบ่อด้วยหินทราย มีขั้นบันไดลงสู่บ่อด้วย ถัดออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใช้หินทรายก่อเป็นแนวคันเขื่อน ภายในค้นพบฐานประดิษฐานโคที่มีจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมัน พื้นที่โดยรอบยังเห็นหินทรายที่ก่อเป็นแนวกำแพงเป็นระยะๆ นอกจากนี้ยังค้นพบแนวท่อโสมสูตรอยู่ทางทิศตะวันตกด้วย เข้าใจว่าเป็นแนวที่ทอดยาวมาจากห้องครรภคฤหะหรือสระน้ำ

สถาปัตยกรรมปราสาทประธานพิมาย
ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านใต้เป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านใต้ (ในอดีตทางด้านนี้น่าจะมีรูปเคารพ จึงไม่อาจเข้าไปภายในได้จริง) ตะวันออก และตะวันตก ประดับบราลีที่สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกแบบายน จึงไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่ประดิษฐานพร้อมการสร้างปราสาทประธาน มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

สถาปัตยกรรมปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมายตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. ชาลานาคราชในแผงผังกากบาท ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชาลานาคราชมีอาคารสี่เหลี่ยม 1 หลัง เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง 2. ถัดจากชาลานาคราชเป็นโคปุระและกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน โคปุระอยู่ในผังกากบาท ประจำอยู่กึ่งกลางด้านทั้งสี่3. ถัดจากโคปุระทิศใต้ไปเป็นชาลาทางเดินยกพื้น ชาลานี้เชื่อมต่อโคปุระทิศใต้ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด เดิมทีมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องคลุมอยู่4. พื้นที่ระหว่างกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับระเบียงคดมีบรรณาลัย 2 หลัง อยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ 4 สระอยู่ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานด้วย5. ระเบียงคดล้อมรอบพื้นที่ศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน มีโคปุระแผนผังกากบาทอยู่ที่ด้านทั้งสี่ 6. ปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน ก่อด้วยหินทรายสีเทาเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางใต้ รอบๆ ปราสาทประธานมีอาคารดังนี้ ด้านตะวันออกเฉียงใต้มีปรางค์พรหมทัต ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพราหมณ์และปรางค์หินแดง ด้านตะวันออกมีส่วนฐานของอาคาร 1 หลัง น่าจะเป็นพลับพลาโถง

สถาปัตยกรรมปรางค์สามยอด
พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีหินทรายก่อเป็นหน้าบันและองค์ประกอบอื่นๆ อิฐสมัยกรุงศรีอยุธยานำมาก่อปิดช่องหน้าต่าง ปูนปั้นประดับหลุดล่วงเป็นส่วนใหญ่อาคารประธานเป็นปราสาทสามหลังเรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันโดยฉนวน ทั้งสามหลังมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน เพียงแต่องค์กลางสูงใหญ่กว่าเล็กน้อย แผนผังเพิ่มมุม ออกมุขที่ด้านทั้งสี่ ภายในปราสาทแต่ละหลังมีแท่นฐานประดิษฐานรูปเคารพ แต่รูปเคารพเดิมเคลื่อนย้ายหมดแล้ว หลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ต่อด้วยบัวกลุ่ม นภศูลหักหายไปแล้ว ด้านหน้าปราสาทองค์กลางมีวิหารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ก่อประตูเป็นวงโค้ง

สถาปัตยกรรมปรางค์แขก
ปรางค์แขกเป็นปราสาทอิฐ 3 หลังวางเรียงกันตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังกลางมีความสูงและใหญ่กว่าอีก 2 หลัง จากการขุดตรวจโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ได้พบว่าปราสาททั้งสามหลังตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันปราสาททั้ง 3 หลังมีรูปแบบทำนองเดียวกัน คือ แผนผังเพิ่มมุม ทางด้านตะวันออกเป็นประตูสู่ครรภคฤหะ ผนังด้านเหนือ ใต้ และตะวันตก เป็นประตูหลอก เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน ปูนฉาบหลุดล่วงออกไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ทางด้านหน้าหรือทิศตะวันออกของปราสาทหลังกลางมีวิหารก่ออิฐผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำซุ้มประตูทรงโค้งแหลมหรือ Pointed Arch ทางด้านใต้ของวิหารมีอาคารที่เชื่อว่าเป็นถังเก็บน้ำตั้งอยู่

สถาปัตยกรรมตึกรับรองราชทูต
อาคารหลังนี้ใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ผนังด้านสกัดทั้งสองด้านยังเห็นแนวผนังสูง ตรงกลางผนังสกัดทำช่องประตูใหญ่ขนาบข้างด้วยช่องแสง ถัดไปด้านบนมีช่องแสงอีก 2 ชั้น ชั้นที่สองเป็นช่องแสงขนาดเล็ก 3 ช่อง ชั้นบนสุดเป็นช่องแสง 1 ช่อง ทุกช่องมีรูปทรงแบบโค้งแหลม หรือ Pointed Arch ผนังแปรชำรุดเสียหายมาก แต่ยังเห็นได้ว่าเป็นช่องประตูและหน้าต่างตลอดแนว อาคารนี้มีสระน้ำล้อมด้วย

สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท
พระที่นั่งองค์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูน แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่ด้านหน้ามีลักษณะเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังเจาะช่องประตูและหน้าต่างทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ โดยรูปทรงของช่องเหล่านี้เป็นแบบโค้งแหลมหรือ Pointed Arch หลังคาที่คลุมพื้นที่ส่วนนี้สันนิษฐานว่าเป็นทรงจั่ว โครงทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องซึ่งได้พังทลายไปหมดแล้ว ส่วนที่สองคือพื้นที่ด้านหลัง เดิมทีส่วนนี้เคยมี 2 ชั้น โดยพื้นชั้นที่สองทำจากไม้จึงสูญสลายผุพังไปหมด เหลือให้เห็นเพียงแนวเสาอิฐรับโครงสร้างและแท่นฐานใหญ่ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง ตรงกลางของผนังด้านตะวันออกชั้นสองมีสีหบัญชร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ในยามออกว่าราชการ ส่วนด้านข้างของผนังตะวันออกเป็นช่องประตู มีบันไดทอดลงไปสู่ห้องโถงส่วนแรก หลังคาของส่วนนี้คงเป็นยอดมหาปราสาท