ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 21 รายการ, 3 หน้า
พระพุทธวชิรญาณ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมพระพุทธวชิรญาณ

พระพุทธรูปทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช ประทับยืนปางห้ามสมุทร รูปแบบเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ทรงเครื่องประดับจำนวนมาก ได้แก่ พระมหามงกุฎ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ธำมรงค์ โดยเฉพาะส่วนของชายไหวชายแครงที่มีลักษณะอ่อนช้อยที่ด้านหน้าสบงเหนือพระเศียรประดับฉัตร 7 ชั้นพระพุทธรูปประทับยืนบนแท่นฐานกลีบบัวซึ่งรองรับด้วยฐานสิงห์ ที่มีรูปเทพพนมและครุฑแบกประดับที่ชั้นฐานก็เป็นลักษณะเดียวกับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ต่างๆ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย ที่ฐานมีจารึกข้อความกล่าวถึงพระราชดำริและประวัติการสร้างพระพุทธวชิรญาณ

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐาน

จิตรกรรมเรื่องอสุภกรรมฐานภายในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหารฯ เป็นภาพภิกษุพิจารณาซากศพประเภทต่างๆจำนวน 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทเหมาะสมกับผู้มีจริตนิสัยแตกต่างกันไป แต่ละห้องภาพมีองค์ประกอบที่คล้ายคลึงกันคือมีภาพพระสงฆ์ 1 รูป พิจารณาซากศพ 1 ประเภท โดยอยู่ในตอนล่างของภาพซึ่งแสดงถึงระยะที่อยู่ใกล้ผู้ชม เบื้องหลังในตำแหน่งที่สูงขึ้นแสดงระยะที่อยู่ไกลออกไปเป็นภาพทิวทัศน์ ประกอบด้วยทิวเขา ป่าไม้ มีเส้นขอบฟ้าเพื่อกำหนดระยะของวัตถุอื่นๆ ในภาพที่อยู่ไกลออกไปและแสดงบรรยากาศของเวลาที่น่าจะเป็นยามเย็นหรือใกล้ค่ำ ภาพอสุภกรรมฐานทั้ง 10 ประเภท ได้แก่1.อุทธุมาตกอสุภ (ศพขึ้นอืด)2. วินีลกอสุภ (ศพสีคล้ำ) 3.วิปุพพกอสุภ (ศพที่มีน้ำเหลือง) 4.วิจฉิททกอสุภ (ศพที่ถูกตัดเป็นท่อน) 5.วิกขายิตกอสุภ (ศพที่มีสัตว์ทั้งหลายกัดกินโดยอาการต่างๆ)6.วิกขิตตกอสุภ (ศพกระจุยกระจาย) 7.หตวิกขิตตกอสุภ (ศพถูกฟัน)8.โลหิตกอสุภ (ศพที่มีเลือดไหล) 9.ปุฬุวกอสุภ (ศพมีหนอน) 10.อัฏฐิกอสุภ (ศพที่เป็นร่างกระดูก)

พระนิรันตราย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระนิรันตราย

พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฏิเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเรียบขนาดใหญ่อย่างเหมือนจริงทับจีวรที่มีริ้วอย่างเป็นธรรมชาติ พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะใบพระกรรณที่หดสั้นลง ที่สำคัญคือไม่มีอุษณีษะ แต่ยังคงทำรัศมีเปลว ขมวดพระเกศา และมีอุณาโลมตามลักษณะมหาบุรุษ พระพุทธรูปประทับนั่งเหนือฐานสิงห์ มีรูปศีรษะโคที่ด้านล่าง ซึ่งมีความหมายถึงโคตมะ รอบองค์พระพุทธรูปประดับด้วยซุ้มเรือนแก้วประกอบกับซุ้มไม้โพธิ์ซึ่งมีคาถาพระพุทธคุณหรือบทอิติปิโส ซึ่งเป็นคาถาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
นนทบุรี
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร

พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว

พระบรมรูป 4 รัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล

พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3

วัดราชโอรสาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชโอรสาราม

วัดแห่งนี้แผนผังหันหน้าไปยังคลองบางขุนเทียน มีพระอุโบสถตั้งเป็นประธานอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยศาลาการเปรียญหรือพระวิหารพระนั่งและพระวิหารพระยืน ด้านหลังเป็นพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีระเบียงคดล้อมรอบวิหารพระนอนซึ่งมีเจดีย์ล้อมรอบ และมีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถและพระวิหาร มุมกำแพงแก้วด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงปรางค์ทั้ง 2 มุม นอกกำแพงด้านหน้ามีเจดีย์ทรงถะจีน 4 องค์ และวิหารพระสิทธารถ

พระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศา รัศมีเป็นเปลวไฟ มีพระเกตุมาลา พระอังสาใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางเรียบไม่มีริ้ว ปรากฏรัดประคดและจีบเป็นแถบที่สบง ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายบนฐานแปดเหลี่ยม

พระสยามเทวาธิราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช

รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ