ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเขาคลังนอก
เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ไม่มีปูนฉาบหรือปูนปั้นประดับ เฉพาะองค์เจดีย์ประธานที่ตั้งอยู่บนลานยอดเท่านั้นที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักเขาคลังนอกมีลักษณะเป็นฐานขนาดใหญ่ซ้อนชั้นกัน บนลานยอดสุดมีเจดีย์ 1 องค์ แผนผังของฐานขนาดใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ 5 เก็จ โดยแต่ละด้านจะประกอบด้วยเก็จกึ่งกลางที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เก็จที่ขนาบเก็จกึ่งกลางมี 2 เก็จขนาดเล็กที่สุด และเก็จที่มุม 2 เก็จ ทุกด้านมีแนวบันไดทางขึ้นสู่ลานยอดพาดผ่านจากเก็จใหญ่ที่กึ่งกลาง ผนังของฐานมีลวดบัวหลายเส้นซ้อนลดหลั่นกัน โดยลวดบัวสำคัญที่แสดงถึงความเป็นศิลปะทวารวดี ได้แก่ บัววลัย หรือกลศ นอกจากนี้ยังประดับตกแต่งผนังของฐานด้วยวิมานหรือปราสาทจำลอง แต่ละด้านมีวิมาน 8 หลังประดับอยู่ที่เก็จขนาบเก็จกึ่งกลาง เก็จมุม และผนังระหว่างเก็จ รูปแบบของลวดบัวทำหนึกถึงลวดบัวในศิลปะปาละตอนต้น ในขณะที่วิมานทำให้นึกถึงศิลปะโจฬะตอนต้น ลานยอดมีเจดีย์ก่ออิฐ 1 องค์ สร้างด้วยอิฐแบบทวารวดีที่ผสมแกลบข้าวในเนื้ออิฐค่อนข้างมาก สภาพปรักหักพังจนศึกษารายละเอียดได้ลำบาก มีแนวหลุมเสากลมล้อมรอบเจดีย์แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีหลังคาคลุมลานยอดนี้
สถาปัตยกรรมเขาคลังใน
เขาคลังนอกเป็นเจดีย์ศิลาแลง แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ มีบันไดทางขึ้นสู่ลานด้านบนทางทิศตะวันออกสภาพปัจจุบันปรักหักพังมาก หลักฐานที่เหลืออยู่เป็นเพียงส่วนฐานขนาดใหญ่ ไม่ทราบส่วนยอดที่แท้ตั้งหรือรูปแบบอาคารบนลานด้านบนว่าเป็นอย่างไร พบงานปูนปั้นประดับส่วนฐานบ้าง โดยเฉพาะทางด้านใต้ โดยปั้นเป็นรูปคนแคระแบกและพรรณพฤกษา
สถาปัตยกรรมพระประโทณเจดีย์
พระประโทณเจดีย์เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ ฐานซ้อนชั้นซึ่งสร้างขึ้นแต่ครั้งทวารวดี และปรางค์ซึ่งตั้งอยู่ด้านบนสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา และซ่อมแซมครั้งใหญ่หรือสร้างใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ฐานซ้อนชั้นมีแผนผังด้านล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทางขึ้นที่ด้านทั้งสี่ ถัดขึ้นมาเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกเก็จที่กลางด้านและมุมรวม 3 เก็จ องค์ประกอบสำคัญของฐานนี้ คือ บัววลัย และผนังที่ตกแต่งด้วยเสาเป็นระยะ ทำให้พื้นที่ระหว่างเสากลายเป็นช่องสี่เหลี่ยม เสาหรือช่องสี่เหลี่ยมนี้ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยชั้นล่างใหญ่กว่าชั้นบน ถัดขึ้นไปเป็นฐานอีกชั้นหนึ่งซึ่งองค์ประกอบหลักไม่ต่างไปจากฐานด้านล่างนัก ยกเว้นทำยกเก็จ 2 ชั้น ฐานชั้นสุดท้ายซึ่งเดิมทีอาจเป็นส่วนเรือนธาตุประดับด้วยซุ้มจระนำเรียงรายโดยรอบ สำหรับปรางค์ที่อยู่ด้านบนสุดมีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนชั้นกันต่อด้วยเรือนธาตุเพิ่มมุม ยอดมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตั้งตรงขึ้นไป
สถาปัตยกรรมพระพุทธรูปที่ถ้ำช้าง
พระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีภาคอีสาน มีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น การที่พระพักตร์มีลักษณะแบบพื้นบ้าน เม็ดพระศกเล็กและวมขึ้นอันแสดงอิทธิพลขอมที่เข้ามาปะปน พระหัตถ์แสดงปางวิตรรกมุทราซึ่งเป็นมุทราที่โดดเด่นในศิลปะทวารวดี พระเพลาขัดสมาธิราบแบบหลวมๆและเห็นฝ่าพระบาทจากด้านบนซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยนี้เช่นกัน
ประติมากรรมพระพุทธรูปที่วัดมโนรม
พระพุทธรูปในศิลปะล้านช้างช่วงต้น มีความใกล้ชิดกับศิลปะสุโขทัยอย่างมาก เช่น มีพระพักตร์รูปไข่ พระเกศาขมวดใหญ่ มีพระรัศมีเป็นเปลวไฟ พระเนตรเหลือบต่ำ พระอังสาใหญ่ ชายสังฆาฏิเป็นเส้นเล็กยาวลงมาจรดพระนาภี