ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 49 ถึง 55 จาก 55 รายการ, 7 หน้า
หนังพระนครไหว
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมหนังพระนครไหว

หนังพระนครไหวประกอบด้วยหนัง 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ หนังชุดเบิกโรง คือชุดจับลิงหัวค่ำ ประกอบด้วยตัวหนังพระฤษี ลิงขาว และลิงดำ อีกประเภทหนึ่งคือหนังเล่าเรื่อง สำหรับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ เช่น ตอนศึกอินทรชิตตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนหนุมานอาสา ตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง และตอนพระรามเสี่ยงม้าอุปการเป็นต้น ตัวหนังทำจากหนังโคเป็นผืนขนาดใหญ่ ฉลุลายด้วยสิ่วและค้อนให้เป็นรูปตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์และองค์ประกอบต่างๆ ตามท้องเรื่อง ตัวละครแต่งกายยืนเครื่องและสวมศิราภรณ์เช่นเดียวกับการแสดงโขน โดยแผ่นหนังทั้งผืนไม่ขาดจากกัน ระบายสีผืนหนังในบางแห่ง หนังแต่ละตัวมีไม้คีบหนัง 2 ข้าง สำหรับผนึกตัวหนังและเชิดประกอบการแสดง

พระพุทธรูปคันธารราฐ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ

พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์

พระพิมพ์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพิมพ์

พระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีภาพบุคคลจำนวนมาก พระพุทธเจ้านั่งทำปางสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ เบื้องล่างปรากฏบุคคล 2 คนซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพญานาคนันทะกับอุปนันทะกำลังชูดอกบัวให้พระพุทธองค์นั่งทำสมาธิอยู่บนนั้น เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าปรากฏภาพบุคคล 1 คน ในขณะที่ด้านขวาปรากฏภาพบุคคล 3 คน ถัดขึ้นไปในตำแหน่งที่ตรงกับบุคคลทั้งสองข้างก็ปรากฏรูปบุคคลเช่นกัน นับรวมรูปบุคคลได้ทั้งหมด 8 คน เหล่านี้น่าจะได้แก่เทวดาที่ลงมาเฝ้าชมเหตุการณ์ ที่มุมด้านบนทั้งสองข้างปรากฏภาพวงกลมมุมละ 1 วง ภายในมีรูปบุคคลปรากฏอยู่ เชื่อได้ว่าหมายถึงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ถัดเข้ามาจากพระอาทิตย์พระจันทร์เป็นภาพเทวดาเหาะ

พระพุทธรูปปางสมาธิ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมบฯฐานบัว พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ด้านหลังมีแผ่นหลังทรงโค้งรองรับไว้เค้าพระพักตร์แตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่พบจากภาคกลางทั่วไป พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน พระหนุ (คาง) เหลี่ยม พระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อยพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย แลเห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระเพลาสลักให้เห็นเป็นมุมมองจากด้านบน สังเกตได้จากการแบฝ่าพระบาทออกทางด้านหน้าและแลเห็นพระชงฆ์จากมุมมองด้านบน พระบาททั้งสองซ้อนทับกัน นิยมเรียกว่าขัดสมาธิราบแบบหลวม แผ่นเบื้องหลังสลักต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระเศียร สองข้างเป็นรูปสถูปทรงหม้อที่มีฉัตรซ้อนชั้นปักเป็นส่วนยอด อนึ่ง เมื่อมองจากทางด้านข้างจะพบว่าพระเพลาอยู่ในแนวเดียวกันกับพระอุระและพระอุทร ไม่ได้ยื่นพ้นออกมาทางด้านหน้า ทำให้กายวิภาคผิดไปจากความเป็นจริง ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดจากความหนาของหินไม่เพียงพอ หรืออาจเป็นความตั้งใจของช่างที่เห็นว่ารูปแบบเช่นนี้เหมาะสมดีแล้ว

พระพุทธรูปปางแสดงธรรม
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางแสดงธรรม

พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สลักขึ้นจากหินก้อนเดียวซึ่งเป็นกรรมวิธีการทำพระพุทธรูปหินที่มีขนาดไม่ใหญ่มากในศิลปะทวารวดี พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเบิกโพรง พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น เดิมทีน่าจะเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีมีค่าแต่ได้สูญหายไปแล้วพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นสูงระดับพระอุระ แสดงปางประทานธรรมหรือวิตรรกมุทราแบบงอนิ้วพระหัตถ์ (บางท่านเรียกว่า อาหูยมุทรา) หากมองจากด้านข้างจะพบว่าพระกรช่วงล่างตั้งแต่พระกโปตะ (ศอก) จนถึงพระหัตถ์สั้นผิดส่วนและแนบชิดพระพาหา (ต้นแขน) โดยมีชิ้นหินที่ไม่ได้สกัดออกยึดตรึงระหว่างกัน รทำเช่นนี้คงเกิดขึ้นจากหินที่นำมาใช้มีความหนาไม่เพียงพอที่จะสลักช่วงพระกรให้ยาวออกไป และต้องการให้พระกรคงทนไม่หักง่ายจึงต้องยึดตรึงกับพระพาหาพระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย

พระพุทธรูป
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูป

พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ใช้หิน 4 ชิ้นประกอบกันเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ชิ้นแรกตั้งแต่พระโสณีลงไปถึงฐานบัว ชิ้นที่สองตั้งแต่พระเศียรลงไปถึงพระโสณี ชิ้นที่สามและสี่ทำพระกรช่วงล่างทั้งสองข้าง การใช้หินหลายก้อนเช่นนี้เป็นกรรมวิธีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของทวารวดีพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรทั้งสองข้างเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้ว พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย

พระพุทธรูปประทานพร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทานพร

พระพุทธรูปปางประทานพรองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตริภังค์บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์อิ่ม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรขวาทอดตัวลงหงายพระหัตถ์ออกด้านหน้า เรียกว่าปางประทานพร พระกรซ้ายเหลือเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้วพระองค์ยืนพักพระบาท (พักขา) โดยสังเกตได้จากพระชานุขวาตึง พระขานุซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณี (สะโพก) เยื้องไปทางขวามากกว่าทางซ้าย บางท่านเรียกว่ายืนเอียงสะโพก หรือตริภังค์ (เอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร) เพียงแต่พระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอังสาแลพระเศียรตรง ในขณะที่ต้นแบบในศิลปะอินเดียจะเอียงทั้ง 3 ตำแหน่งชัดเจน พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย